ระบบการศึกษา การคิดหน่วยกิต จำนวนหน่วยกิตรวม และระยะเวลาการศึกษา

ระบบการศึกษา

มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาโดยใช้ระบบทวิภาค 1 ปีการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษาปกติ 1 ภาคการศึกษาปกติมีระยะเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์ การเปิดการศึกษาภาคฤดูร้อน ให้กำหนดระยะเวลาและจำนวนหน่วยกิตโดยมีสัดส่วนเทียบเคียงกันได้กับการศึกษาภาคปกติ

การคิดหน่วยกิต
การคิดหน่วยกิต หมายถึง หน่วยที่แสดงปริมาณการศึกษาซึ่งมหาวิทยาลัยจัดให้แก่นิสิต โดยมีวิธีการคิดหน่วยกิต ดังนี้

  1. รายวิชาภาคทฤษฎี ที่ใช้เวลาบรรยายหรืออภิปรายปัญหาไม่น้อยกว่า 15 ชั่วโมงต่อ ภาคการศึกษาปกติ ให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตระบบทวิภาค
  2. รายวิชาภาคปฏิบัติ ที่ใช้เวลาฝึกหรือทดลองไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติ ให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตระบบทวิภาค
  3. การฝึกงานหรือการฝึกภาคสนาม ที่ใช้เวลาฝึกไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติ ให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตระบทวิภาค
  4. การทำโครงงานหรือกิจกรรมการเรียนอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายที่ใช้เวลาทำโครงงานหรือกิจกรรมนั้น ๆ ไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติ ให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต ระบบทวิภาค

จำนวนหน่วยกิตรวมและระยะเวลาการศึกษา

  1. หลักสูตรปริญญาตรี (4 ปี) ให้มีจำนวนหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 120 หน่วยกิตใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 8 ปีการศึกษา สำหรับการลงทะเบียนเรียนเต็มเวลา และไม่เกิน 12 ปีการศึกษาสำหรับการลงทะเบียนเรียนไม่เต็มเวลา
  2. หลักสูตรปริญญาตรี (5 ปี) ให้มีจำนวนหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 150 หน่วยกิตใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 10 ปีการศึกษา สำหรับการลงทะเบียนเรียนเต็มเวลา และไม่เกิน 15 ปีการศึกษา สำหรับการลงทะเบียนเรียนไม่เต็มเวลา
  3. หลักสูตรปริญญาตรี (ไม่น้อยกว่า 6 ปี) ให้มีจำนวนหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 180 หน่วยกิต ใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 12 ปีการศึกษา สำหรับการลงทะเบียนเรียนเต็มเวลา และไม่เกิน 18 ปีการศึกษา สำหรับการลงทะเบียนเรียนไม่เต็มเวลา
  4. หลักสูตรปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) ให้มีจำนวนหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 72 หน่วยกิตใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 4 ปีการศึกษา สำหรับการลงทะเบียนเรียนเต็มเวลา และไม่เกิน 6 ปีการศึกษา สำหรับ การลงทะเบียนเรียนไม่เต็มเวลา

ทั้งนี้ การนับเวลาศึกษามหาวิทยาลัยจะเริ่มนับจากวันที่เปิดภาคการศึกษาแรกที่รับเข้าศึกษาในหลักสูตรนั้น

หลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรี โครงสร้างหลักสูตร และอาจารย์ประจำหลักสูตร

โครงสร้างหลักสูตร

ประกอบด้วยหมวดวิชาศึกษาทั่วไป หมวดวิชาเฉพาะ และหมวดวิชาเลือกเสรี โดยมีสัดส่วนจำนวนหน่วยกิตของแต่ละหมวดวิชา ดังนี้

 

1. หมวดวิชาศึกษาทั่วไป หมายถึง หมวดวิชาที่เสริมสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้มีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง เข้าใจ และเห็นคุณค่าของตนเอง ผู้อื่น สังคม ศิลปวัฒนธรรมและธรรมชาติ ใส่ใจต่อความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรมพร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของสังคมไทยและสังคมโลกรายวิชาภาคปฏิบัติ ที่ใช้เวลาฝึกหรือทดลองไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติ ให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตระบบทวิภาค

 

การจัดรายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปมหาวิทยาลัยอาจจัดในลักษณะจำแนกเป็นรายวิชาหรือลักษณะบูรณาการใด ๆก็ได้ โดยผสมผสานเนื้อหาวิชาครอบคลุมสาระของกลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ภาษาและกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปทั้งนี้ให้มีจำนวนหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต

 

อนึ่ง การจัดวิชาศึกษาทั่วไปสำหรับหลักสูตรปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) มหาวิทยาลัยอาจยกเว้นรายวิชาที่ได้ศึกษามาแล้วในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงหรือระดับอนุปริญญา ทั้งนี้ จำนวนหน่วยกิตของรายวิชาที่ได้รับการยกเว้นดังกล่าว เมื่อนับรวมกับรายวิชาที่จะศึกษาเพิ่มเติมในหลักสูตรปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) ต้องไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต


2. หมวดวิชาเฉพาะ หมายถึง วิชาแกน วิชาเฉพาะด้าน วิชาพื้นฐานวิชาชีพและวิชาชีพที่มุ่งหมายให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติงานได้ โดยให้มีจำนวนหน่วยกิตรวม ดังนี้

2.1 หลักสูตรปริญญาตรี (4 ปี) ทางวิชาการ ให้มีจำนวนหน่วยกิตหมวดวิชาเฉพาะรวมไม่น้อยกว่า72 หน่วยกิต
2.2 หลักสูตรปริญญาตรี (4 ปี) ทางวิชาชีพหรือปฏิบัติการ ให้มีจำนวนหน่วยกิตหมวดวิชาเฉพาะรวมไม่น้อยกว่า 72 หน่วยกิต โดยต้องเรียนวิชาทางปฏิบัติการตามที่มาตรฐานวิชาชีพกำหนด หากไม่มีมาตรฐานวิชาชีพกำหนดต้องเรียนวิชาทางปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต และทางทฤษฎีไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต
หลักสูตร (ต่อเนื่อง) ให้มีจำนวนหน่วยกิตหมวดวิชาเฉพาะรวมไม่น้อยกว่า 42 หน่วยกิต ในจำนวนนั้น
ต้องเป็นวิชาทางทฤษฏีไม่น้อยกว่า 18 หน่วยกิต
2.3 หลักสูตรปริญญาตรี (5 ปี) ให้มีจำนวนหน่วยกิตหมวดวิชาเฉพาะรวมไม่น้อยกว่า 90 หน่วยกิต
2.4 หลักสูตรปริญญาตรี (ไม่น้อยกว่า 6 ปี) ให้มีจำนวนหน่วยกิตหมวดวิชาเฉพาะรวมไม่น้อยกว่า108 หน่วยกิต
มหาวิทยาลัยอาจจัดหมวดวิชาเฉพาะในลักษณะวิชาเอกเดี่ยว วิชาเอกคู่ หรือวิชาเอกและวิชาโทก็ได้ โดยวิชาเอกต้องมีจำนวนหน่วยกิตไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต และวิชาโทต้องมีจำนวน หน่วยกิตไม่น้อยกว่า15 หน่วยกิต ในกรณีที่จัดหลักสูตรแบบวิชาเอกคู่ต้องเพิ่มจำนวนหน่วยกิตของวิชาเอกอีกไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิตและให้มีจำนวนหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 150 หน่วยกิต
สำหรับหลักสูตรปริญญาตรีแบบก้าวหน้า ผู้เรียนต้องเรียนวิชาระดับบัณฑิตศึกษาในหมวดวิชาเฉพาะไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต


3. หมวดวิชาเลือกเสรี หมายถึง วิชาที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ ตามที่ตนเองถนัดหรือสนใจโดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกเรียนรายวิชาใด ๆ ในหลักสูตรระดับปริญญาตรี โดยให้มีจำนวน หน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต
มหาวิทยาลัยอาจยกเว้นหรือเทียบโอนหน่วยกิตรายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป หมวดวิชาเฉพาะ และหมวดวิชาเลือกเสรี ให้กับนิสิตที่มีความรู้ความสามารถ ที่สามารถวัดมาตรฐานได้ ทั้งนี้ นิสิตต้องศึกษาให้ครบตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การเทียบโอนผลการเรียน
ระดับปริญญาเข้าสู่การศึกษาในระบบ และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการเทียบโอนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

จำนวนหน่วยกิตที่นิสิตจะลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคการศึกษา มีดังนี้

  1. ให้ลงทะเบียนเรียนได้ไม่น้อยกว่า 9 หน่วยกิต และไม่เกิน 22 หน่วยกิต ในแต่ละภาคการศึกษาปกติสำหรับการลงทะเบียนเรียนเต็มเวลา และให้ลงทะเบียนเรียนได้ไม่เกิน 9 หน่วยกิตในแต่ละภาคการศึกษาปกติสำหรับการลงทะเบียนเรียนไม่เต็มเวลา
  2. ในภาคฤดูร้อนจะลงทะเบียนเรียนได้ไม่เกิน 9 หน่วยกิต
  3. นิสิตอาจลงทะเบียนเรียนโดยมีจำนวนหน่วยกิตสูงกว่าหรือต่ำกว่าตามที่ได้กำหนดไว้ ในกรณีที่จะขอสำเร็จการศึกษาในภาคการศึกษานั้น ทั้งนี้ต้องไม่กระทบกระเทือนต่อมาตรฐานคุณภาพการศึกษา โดยให้นิสิตเสนอผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาผ่านคณะกรรมการรับผิดชอบหลักสูตรและคณะ โดยมหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ
  4. การลงทะเบียนของนิสิตที่อยู่ในสภาพรอพินิจ จะต้องลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคการศึกษาปกติไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต และไม่เกิน 12 หน่วยกิต และในภาคฤดูร้อนจะลงทะเบียนเรียนได้ไม่เกิน 6 หน่วยกิต

การขอถอน ขอเพิ่มรายวิชาหรือขอยกเลิกรายวิชา

  1. การขอถอนหรือขอเพิ่มรายวิชาต้องได้รับการเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาและหัวหน้าสาขาวิชา ทั้งนี้ต้องไม่ขัดกับจำนวนหน่วยกิตต่อภาคการศึกษาตามที่กำหนดไว้
  2. การขอถอนรายวิชาโดยไม่ติดสัญลักษณ์ “W” หรือขอเพิ่มรายวิชาต้องกระทำภายใน2 สัปดาห์แรกของภาคการศึกษาปกติหรือภายในสัปดาห์แรกของภาคฤดูร้อน และนิสิตจะได้รับการโอนเงินค่าหน่วยกิตของรายวิชาที่เพิกถอนไปใช้ในรายวิชาที่ขอเพิ่มหรือใช้ในภาคการศึกษาถัดไปที่ลงทะเบียนเรียนได้เต็มจำนวน
  3. การขอยกเลิกรายวิชาโดยติดสัญลักษณ์ “W” เป็นการขอยกเลิกรายวิชาหลัง 2 สัปดาห์แรกของภาคการศึกษาปกติหรือหลังสัปดาห์แรกของภาคฤดูร้อน และไม่เกิน 12 สัปดาห์ นับจากวันเปิดภาคการศึกษาปกติและไม่เกิน 6 สัปดาห์ นับจากวันเปิดภาคฤดูร้อน โดยนิสิตไม่มีสิทธิ์ขอคืนเงินหรือโอนค่าหน่วยกิต
  4. นิสิตที่ถูกสั่งพักการเรียน หรือได้รับการอนุมัติให้ลาพักการศึกษาตามระเบียบของมหาวิทยาลัยหลังการลงทะเบียนวิชาเรียนแล้วให้เพิกถอนรายวิชาและได้รับสัญลักษณ์ “W” ในภาคการศึกษานั้น

การลงทะเบียนเรียนซ้ำ

  1. นิสิตที่ได้ระดับคะแนน F ในวิชาบังคับจะต้องลงทะเบียนเรียนวิชานั้นซ้ำอีกจนกว่าจะสอบได้
  2. นิสิตที่ได้ระดับคะแนน F ในวิชาเลือกจะลงทะเบียนเรียนวิชานั้นซ้ำอีกหรือเลือกลงทะเบียนเรียนวิชาอื่นแทนได้
  3. นิสิตสามารถลงทะเบียนเรียนรายวิชาที่ได้ระดับคะแนนตั้งแต่ D+ ลงมาซ้ำได้ในกรณีที่ต้องการเพิ่มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม
  4. การลงทะเบียนเรียนซ้ำให้นับหน่วยกิตสะสมเพียงครั้งเดียวและให้นำผลการประเมินที่ดีที่สุดมาคำนวณค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม

ค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมการศึกษา

นิสิตต้องชำระค่าเล่าเรียน ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมการศึกษาเมื่อมีการลงทะเบียนรายวิชา ค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมการศึกษาประเภทต่าง ๆที่ต้องชำระให้เป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัย

การวัดผลและการประเมินผลการศึกษา

การมีสิทธิ์เข้าสอบปลายภาค

นิสิตต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมดจึงจะมีสิทธิ์เข้าสอบปลายภาค หากนิสิตมีเวลาเรียนน้อยกว่าร้อยละ 80 แต่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ให้ยื่นคำร้องขอสอบผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อให้มหาวิทยาลัยพิจารณา

การประเมินผลการศึกษา

การประเมินผลการศึกษาในรายวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตรเมื่อสิ้นสุดการศึกษาในแต่ละภาค โดยผลการประเมินแบ่งเป็น 2 ระบบ ดังนี้

 

1. ระบบค่าระดับคะแนน แบ่งเป็น 8 ระดับ ดังนี้

อักษรระดับคะแนน ความหมาย ค่าระดับคะแนน
A ดีเยี่ยม (Excellent) 4.0
B+ ดีมาก (Very Good) 3.5
B ดี (Good) 3.0
C+ ดีพอใช้ (Fairly Good) 2.5
C พอใช้ (Fair) 2.0
D+ ค่อนข้างอ่อน (Fairly Poor) 1.5
D อ่อน (Poor) 1.0
F ตก (Fail) 0

 

2. ระบบไม่มีค่าระดับคะแนน กำหนดสัญลักษณ์การประเมินผล ดังนี้

สัญลักษณ์ ความหมาย
I การประเมินผลยังไม่สมบูรณ์ (Incomplete)
S ผลการเรียนเป็นที่พอใจ (Satisfactory)
U ผลการเรียนไม่เป็นที่พอใจ (Unsatisfactory)
W การยกเลิกรายวิชาโดยได้รับอนุมัติ (Withdrawal)
AU การร่วมฟังการบรรยายโดยไม่นับหน่วยกิต (Audit)
T การเทียบโอนรายวิชา (Transfer)
IP การศึกษายังไม่สิ้นสุด (In Progress)
CS การเทียบโอนหน่วยกิตจากการทดสอบมาตรฐาน(credits from standardized tests)
CE การเทียบโอนหน่วยกิตจากการทดสอบที่ไม่ใช่การทดสอบมาตรฐาน(credits from exam)
CP การเทียบโอนหน่วยกิตโดยการประเมินประสบการณ์การทำงานผลการปฏิบัติงาน และจากการเสนอแฟ้มสะสมงาน(credits from portfolio)
CT การเทียบโอนจากการประเมินการศึกษาหรือการฝึกอบรมที่จัดโดยหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่สถาบันอุดมศึกษา และ การเทียบโอนจากการฝึกอบรมที่จัดโดยสถาบันอุดมศึกษาให้บันทึก “CT” (credits from training)
T การเทียบโอนหน่วยกิตจากระบบการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัย(transfer by grading)

3. การให้ระดับคะแนนตัวอักษร A, B+, B, C+, C, D+, D และ F กระทำได้ในกรณีที่เป็นรายวิชาที่นิสิตเข้าสอบ ทำข้อสอบ และหรือมีคะแนนผลการสอบที่สามารถประเมินได้เป็นลำดับขั้นตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

4. นิสิตที่มีผลการศึกษาในระดับ D ขึ้นไปหรือได้ S ถือว่าสอบได้ในรายวิชานั้นยกเว้นรายวิชาที่กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในหลักสูตร

5. การให้ F ให้กระทำได้ในกรณีดังต่อไปนี้

5.1 นิสิตขาดสอบประจำภาคการศึกษาโดยไม่ได้รับอนุมัติให้เข้าสอบ
5.2 นิสิตที่ร่วมกิจกรรมการเรียนไม่ครบตามที่กำหนดไว้
5.3 นิสิตทุจริตในการสอบ
5.4 นิสิตที่ได้รับคะแนน I แต่มิได้ดำเนินการขอประเมินผลเพื่อแก้ระดับคะแนน I ให้เสร็จสิ้นภายใน 6 สัปดาห์แรกของภาคการศึกษาถัดไปที่นิสิตมีสิทธิ์ลงทะเบียน
5.5 นิสิตเข้าสอบและสอบตกหรือเข้าสอบแต่ไม่ทำข้อสอบ

6. การให้ I ในรายวิชาใดให้กระทำได้ในกรณีที่อาจารย์ผู้สอนเห็นสมควรให้รอผลการศึกษาเพราะนิสิตยังปฏิบัติงานซึ่งเป็นส่วนประกอบการศึกษารายวิชานั้นยังไม่สมบูรณ์ นิสิตที่ได้รับคะแนน I จะต้องดำเนินการขอรับการประเมินผลเพื่อเปลี่ยนระดับ I ให้เสร็จสิ้นภายใน 6 สัปดาห์แรกของภาคการศึกษาถัดไปที่นิสิตมีสิทธิ์ลงทะเบียนเรียน หากพ้นกำหนดดังกล่าวมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนระดับคะแนน I เป็น F โดยอัตโนมัติ

7. การให้สัญลักษณ์ S จะกระทำได้ในรายวิชาที่หลักสูตรกำหนดไว้ว่าให้ประเมินผลเป็นระบบไม่มีค่าระดับคะแนน หรือใช้ในรายวิชาที่หลักสูตรหรือมหาวิทยาลัยกำหนดให้เรียนเพิ่ม โดยที่ผลการเรียนในรายวิชานั้นต้องผ่านเกณฑ์การประเมิน

8. การให้สัญลักษณ์ U ในรายวิชาใด กระทำได้ตามที่กำหนดไว้ แต่ผลการเรียนในรายวิชานั้นไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน

9. การให้ AU ในรายวิชาใดให้กระทำได้ในกรณีที่นิสิตได้รับอนุมัติให้ลงทะเบียนเพื่อร่วมฟังโดยไม่นั่บหน่วยกิต และมีวลาเรียนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมด ถ้าหากไม่เป็นไปตามนั้นจะไม่บันทึกรายวิชานั้นลงในใบแสดงผลการศึกษา

10. การให้สัญลักษณ์ IP ในรายวิชาใด กระทำได้เฉพาะรายวิชาที่มีผลการเรียนหรือปฏิบัติงานต่อเนื่องกันมากกว่า 1 ภาคการศึกษาและหรือการศึกษารายวิชานั้นยังไม่สิ้นสุด สัญลักษณ์ IP จะถูกเปลี่ยนเมื่อการเรียนหรือการปฏิบัติงานในรายวิชานั้นสิ้นสุดและมีการประเมินผลการศึกษาเป็นไปตามที่กำหนดไว้

การนับหน่วยกิตและการคำนวณหาค่าระดับคะแนนเฉลี่ยและระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม

1. การนับหน่วยกิตสะสม เพื่อให้ครบตามจำนวนที่กำหนดในหลักสูตร ให้นับเฉพาะหน่วยกิตของรายวิชาที่สอบได้และได้รับโอนมา
2. การนับจำนวนหน่วยกิตเพื่อใช้ในการคำนวณหาค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม ให้นับจากรายวิชาที่มีการประเมินผลการศึกษาที่มีค่าระดับคะแนน
3. ค่าระดับคะแนนเฉลี่ยประจำภาคการศึกษา และค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมให้คำนวณเป็นเลขทศนิยม 2 ตำแหน่งไม่ปัดเศษ สำหรับรายวิชาที่ยังมีผลการศึกษาเป็น “I” ไม่นำหน่วยกิตมารวมเป็นตัวหารเฉลี่ยในภาคการศึกษานั้น
4. กรณีโอนรายวิชาที่เคยเรียนในมหาวิทยาลัย ให้คำนวณค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมจากรายวิชาทั้งหมดที่ได้รับโอน และรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียนภายหลังการเทียบโอน
5. กรณีที่นิสิตลงทะเบียนเรียนซ้ำในรายวิชาใดให้นับจำนวนหน่วยกิตสะสมจากจำนวนหน่วยกิตที่ลงทะเบียนเรียนเพียงครั้งเดียว และให้นำผลการประเมินที่ดีที่สุดมาคำนวณระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม
6. กรณีการโอนรายวิชาจากสถาบันอุดมศึกษาอื่น ให้คำนวณค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมเฉพาะผลการศึกษาตามหลักสูตรสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยเท่านั้น

สถานภาพของนิสิต การรักษาสถานภาพ และการพ้นสภาพนิสิต

สถานภาพนิสิต

1. การจำแนกสถานภาพนิสิตกระทำเมื่อสิ้นภาคการศึกษาปกติ เว้นแต่นิสิตที่เข้าศึกษาเป็นภาคการศึกษาแรกให้จำแนกสถานภาพนิสิตเมื่อสิ้นภาคการศึกษาปกติที่สอง สถานภาพนิสิตแบ่งเป็น

1.1 นิสิตปกติ ได้แก่ นิสิตที่สอบได้คะแนนเฉลี่ยสะสม (GPAX) ไม่ต่ำกว่า 2.00 จากระบบ 4 ระดับคะแนนหรือเทียบเท่า
1.2 นิสิตรอพินิจ (Probation) ได้แก่ นิสิตที่สอบได้คะแนนเฉลี่ยสะสม (GPAX) ต่ำกว่า 1.75 ตั้งแต่ภาคการศึกษาปกติที่ 2 เป็นต้นไป
1.3 ฐานะชั้นปีของนิสิต จะกำหนดเมื่อสิ้นสุดแต่ละปีการศึกษาโดยเทียบจากจำนวนหน่วยกิตที่สอบได้ตามอัตราส่วนของหน่วยกิตของหลักสูตรสาขาวิชานั้น

การรักษาสถานภาพ

1. นิสิตที่ลงทะเบียนรายวิชาครบตามที่กำหนดในหลักสูตร แต่ยังไม่สำเร็จการศึกษาต้องลงทะเบียนชำระค่าบำรุงการศึกษาและค่าธรรมเนียมการศึกษาอื่น ๆ ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดใน ภาคการศึกษาที่รักษาสถานภาพจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา
2. การลงทะเบียนเพื่อรักษาสถานภาพนิสิตให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนสอบปลายภาค

การพ้นสภาพการเป็นนิสิต

นิสิตจะพ้นสภาพการเป็นนิสิตในกรณีดังต่อไปนี้
1. สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร
2. มีระยะเวลาศึกษาเกินกว่าระยะเวลาการศึกษาตามที่กำหนดไว้
3. ขาดคุณสมบัติในการเข้าศึกษาในหลักสูตรที่กำลังศึกษา
4. ขาดการลงทะเบียน และลาพักการศึกษาเป็นเวลาสองภาคการศึกษาปกติติดต่อกัน เว้นแต่จะได้รับอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ
5. ใช้เอกสารปลอมในการสมัครเข้าเป็นนิสิต
6. ต้องรับโทษจำคุกยกเว้นความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
7. มหาวิทยาลัยสั่งให้พ้นสภาพนิสิตด้วยเหตุกระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
8. ไม่ชำระเงินเพื่อรักษาสถานภาพนิสิต
9. ลาออก
10. เสียชีวิต

การขอคืนสภาพการเป็นนิสิต

การขอคืนสภาพการเป็นนิสิต ผู้ที่พ้นสภาพการเป็นนิสิตโดยการลาออกหรือถูกจำหน่ายโดยไม่ได้ติดต่อกับมหาวิทยาลัย หรือถูกสั่งพัก ประสงค์จะกลับเข้าศึกษาต่อสามารถยื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัยเพื่อขอคืนสภาพการเป็นนิสิตได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศของมหาวิทยาลัย

การลาพักการศึกษา

แนวปฏิบัติการลาพักการศึกษา
1. นิสิตที่มีความจำเป็นต้องลาพักการศึกษา ต้องยื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัยภายในสัปดาห์ที่ 8 ของภาคการศึกษาปกติและภายใน 4 สัปดาห์สำหรับภาคฤดูร้อน โดยผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาและได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัย
2. การลาพักการศึกษาให้อนุมัติได้ครั้งละไม่เกิน 1 ภาคการศึกษา แต่ไม่เกิน 2 ภาคการศึกษาปกติติดต่อกัน ถ้านิสิตยังมีความจำเป็นต้องขอลาพักการเรียนต่อไปอีกให้ยื่นคำร้องใหม่
3. ให้นับระยะเวลาที่ขอลาพักการศึกษา รวมอยู่ในระยะเวลาการศึกษาตามที่กำหนดไว้ ยกเว้นกรณีลาพักการศึกษาเนื่องจากถูกเกณฑ์หรือระดมเข้ารับราชการทหารกองประจำการ
4. ในระหว่างการลาพักการศึกษา นิสิตต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมอื่นที่มหาวิทยาลัยกำหนดเพื่อรักษาสถานภาพนิสิตมิฉะนั้นจะพ้นสภาพนิสิต
5. หลังจากการลาพักการศึกษา หากนิสิตจะกลับเข้าเรียน ต้องยื่นคำร้องขอกลับเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ก่อนวันเปิดภาคการศึกษาไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์ โดยผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาและได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัย

การย้ายสาขาวิชา

1. นิสิตที่ขอย้ายสาขาวิชา จะต้องไม่เป็นผู้ที่พ้นสภาพนิสิต
2. การย้ายสาขาวิชา ให้ถือเกณฑ์ปฏิบัติดังนี้

2.1 คุณสมบัติของนิสิตที่ขอย้ายสาขาวิชา

2.1.1 เคยลงทะเบียนเรียนในสาขาวิชาเดิมมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ภาคการศึกษา
2.1.2 คุณวุฒิทางการศึกษาและคุณสมบัติเฉพาะตรงตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรสาขาวิชาที่ขอย้ายเข้า

2.2 นิสิตต้องยื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันสิ้นภาคการศึกษา
2.3 นิสิตที่ได้รับอนุมัติให้ย้ายสาขาวิชาสามารถขอเทียบรายวิชาและโอนหน่วยกิตได้ในภาคการศึกษาแรกของสาขาวิชาที่ขอย้าย
2.4 การอนุมัติการย้ายสาขาวิชา การย้ายสาขาวิชาต้องได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาหัวหน้าสาขาวิชาที่เรียนอยู่เดิมและหัวหน้าสาขาวิชาที่ขอย้าย และได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัย ผลการย้ายสาขาวิชาจะสมบูรณ์เมื่อนิสิตได้ชำระค่าธรรมเนียมในการโอนเรียบร้อย
2.5 เมื่อนิสิตได้รับอนุมัติให้ย้ายสาขาวิชาแล้ว จะจะต้องศึกษาให้ครบหลักสูตรใหม่ภายในระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามหลักสูตรของสาขาวิชาที่ขอย้ายโอน

การเทียบรายวิชา โอนหน่วยกิต และการเข้าศึกษาปริญญาที่สอง

1. การเทียบรายวิชาเรียนและโอนหน่วยกิตของนิสิตในมหาวิทยาลัยหรือจากสถาบันอื่นที่ประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ ว่าด้วย การเทียบโอนผลการเรียน พ.ศ.2559 หรือที่แก้ไขเพิ่มเติม และข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ ว่าด้วย หลักเกณฑ์การเทียบโอนความรู้และ
ประสบการณ์การทำงาน พ.ศ. 2561 หรือที่แก้ไขเพิ่มเติม

2. การเข้าศึกษาปริญญาที่สองให้เป็นไปตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้

2.1 ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติตามตามที่กำหนดไว้
2.2 สาขาวิชาที่สมัครต้องเป็นสาขาวิชาหรือปริญญาที่มีชื่อไม่เหมือนกับสาขาวิชาหรือปริญญาที่เคยได้รับ
2.3 ได้รับการยกเว้นการเรียนรายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปของหลักสูตรปริญญาที่สอง ในกรณีที่มหาวิทยาลัยพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ขอศึกษาปริญญาที่สองยังขาดความรู้ในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปก็อาจกำหนดให้ศึกษาเพิ่มเติมวิชาเหล่านั้นได้โดยนับเป็นหน่วยกิตสะสม หรือไม่นับหน่วยกิตสะสมได้
2.4 ต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชาเพิ่มเติมอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนหน่วยกิต รวมตลอดหลักสูตรและต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชาบังคับของสาขาวิชาให้ครบตามหลักสูตรกำหนด
2.5 ในกรณีที่คณะกรรมการผู้รับผิดชอบหลักสูตรที่ผู้สมัครเข้าศึกษาปริญญาที่สองพิจารณาเห็นว่าผู้ขอศึกษาปริญญาที่สองยังขาดความรู้เบื้องต้นบางวิชาก็อาจกำหนดให้ศึกษาเพิ่มเติมวิชาเหล่านั้นได้
2.6 รายวิชาใดที่ศึกษามาแล้วทั้งหมดในปริญญาเดิมจะได้รับการพิจารณาเทียบโอน หน่วยกิตเพื่อใช้ในแผนการศึกษาของสาขาวิชาใหม่ รายวิชาที่จะเทียบโอนหน่วยกิตสะสมได้ จะต้องมีเนื้อหาสาระครอบคลุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของรายวิชาที่ขอเทียบโอนและมีผลการเรียนเทียบได้ไม่ต่ำกว่า ระดับ C หรือ 2.00 หรือเทียบเท่า
2.7 ผู้ขอศึกษาปริญญาที่สอง มีระยะเวลาในการศึกษาปริญญาที่สองไม่เกิน 5 ปี

การศึกษาข้ามสถาบัน
นิสิตที่ประสงค์จะศึกษาข้ามสถาบันให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  1. เป็นนิสิตที่ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาสุดท้าย และมหาวิทยาลัยไม่ได้เปิดสอนในรายวิชาที่นิสิตประสงค์จะลงทะเบียนเรียนหรือเป็นนิสิตแลกเปลี่ยนตามโครงการแลกเปลี่ยนนิสิตของมหาวิทยาลัย
  2. กรณีนิสิตของมหาวิทยาลัยประสงค์จะศึกษาข้ามสถาบัน จะต้องเป็นสถาบัน อุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบ
  3. รายวิชาที่นิสิต ประสงค์จะศึกษาข้ามสถาบันจะต้องมีเนื้อหารายละเอียดวิชาเทียบเคียงได้หรือมีเนื้อหาสาระครอบคลุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของรายวิชาของมหาวิทยาลัย
  4. นิสิตที่ได้รับอนุมัติให้ลงทะเบียนเรียนเพื่อศึกษาข้ามสถาบัน จะต้องปฏิบัติตามระเบียบของสถาบันที่นิสิตลงทะเบียนเรียน และติดตามให้สถาบันที่นิสิตลงทะเบียนเรียนส่งผลการศึกษาโดยตรงต่อทางมหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

การสำเร็จการศึกษา
ระยะเวลาในการสำเร็จการศึกษา จะสำเร็จการศึกษาได้ ดังนี้

  1. หลักสูตรปริญญาตรี (4 ปี) สำเร็จการศึกษาได้ไม่ก่อน 6 ภาคการศึกษาปกติ สำหรับการลงทะเบียนเรียนเต็มเวลา และไม่ก่อน 14 ภาคการศึกษาปกติ สำหรับการลงทะเบียนเรียนไม่เต็มเวลา
  2. หลักสูตรปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) สำเร็จการศึกษาได้ไม่ก่อน 4 ภาคการศึกษาปกติสำหรับการลงทะเบียนเรียนเต็มเวลา และไม่ก่อน 8 ภาคการศึกษาปกติ สำหรับการลงทะเบียนเรียนไม่เต็มเวลา

การได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม

1. ปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
นิสิตที่มีสิทธิ์ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1.1 เป็นนิสิตหลักสูตรปริญญาตรี ที่สอบได้หน่วยกิตครบตามหลักสูตรภายในระยะเวลาของการจัดการศึกษาภาคปกติ ทั้งนี้ไม่นับภาคการศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ลาพักการศึกษา
1.2 สอบได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ 3.50 ขึ้นไป และไม่มีรายวิชาใดได้รับสัญลักษณ์ D, D+, W หรือ F
1.3 ไม่เคยลงทะเบียนเรียนซ้ำในรายวิชาใดหรือเทียบโอนรายวิชาของมหาวิทยาลัย
1.4 ไม่เคยเทียบโอนรายวิชาจากสถาบันการศึกษาอื่น
1.5 ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย

2. ปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับสอง
นิสิตที่มีสิทธิ์ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับสอง จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

2.1 เป็นนิสิตหลักสูตรปริญญาตรีที่สอบได้หน่วยกิตครบตามหลักสูตรภายในระยะเวลาของการจัดการศึกษาภาคปกติ ทั้งนี้ไม่นับภาคการศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ลาพักการศึกษา
2.2 สอบได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม ตั้งแต่ 3.25 ขึ้นไป
2.3 ไม่เคยสอบตก (ค่าระดับคะแนนเป็น F) หรือลงทะเบียนเรียนซ้ำในรายวิชาใดหรือเทียบโอนรายวิชาของมหาวิทยาลัย
2.4 ไม่เคยเทียบโอนรายวิชาจากสถาบันการศึกษาอื่น
2.5 ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย

3. การให้เกียรติบัตรประกาศเกียรติคุณผลการเรียนดีเด่น
นิสิตหลักสูตร 4 ปีเทียบโอน ที่มีสิทธิ์ได้รับเกียรติบัตรประกาศเกียรติคุณผลการเรียนดีเด่นจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

3.1 ต้องสอบได้หน่วยกิตครบตามหลักสูตรภายในระยะเวลาของการจัดการศึกษาภาคปกติ ทั้งนี้ไม่นับภาคการศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ลาพักการศึกษา
3.2 สอบได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ 3.50 ขึ้นไป
3.3 ไม่เคยสอบตกหรือลงทะเบียนเรียนซ้ำในรายวิชาใดของมหาวิทยาลัย
3.4 ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย

4. การให้อนุปริญญา
นิสิตที่จะยื่นคำร้องขอรับอนุปริญญาได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติดังนี้

4.1 เป็นนิสิตหลักสูตรปริญญาตรี
4.2 เป็นผู้ที่สอบผ่านได้ครบทุกรายวิชาตามโครงสร้างหลักสูตรในระดับปริญญาตรีและได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรต่ำกว่าเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแต่ไม่ต่ำกว่า 1.75