ระบบการจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา

มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาโดยใช้ระบบทวิภาค โดย 1 ปีการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษาปกติ 1 ภาค ภาคการศึกษาปกติมีระยะเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์ มหาวิทยาลัยเปิดการศึกษาภาคฤดูร้อนกำหนดระยะเวลาและจำนวนหน่วยกิต โดยมีสัดส่วนเทียบเคียงกันได้กับการศึกษาภาคปกติ

มหาวิทยาลัยอาจจัดการศึกษาระบบอื่น โดยกำหนดรายละเอียดการเทียบเคียงหน่วยกิตกับระบบทวิภาคไว้ในหลักสูตรของสาขาวิชาต่าง ๆ

 

การคิดหน่วยกิต

  1. รายวิชาภาคทฤษฎี ที่ใช้เวลาบรรยายหรืออภิปรายปัญหาไม่น้อยกว่า 15 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต ระบบทวิภาค
  2. รายวิชาภาคปฏิบัติ ที่ใช้เวลาฝึกหรือทดลองไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต ระบบทวิภาค
  3. การฝึกงานหรือการฝึกภาคสนาม ที่ใช้เวลาฝึกไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต ระบบทวิภาค
  4. การทำโครงงานหรือกิจกรรมการเรียนอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย ที่ใช้เวลาทำโครงงานหรือกิจกรรมนั้นไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติ ให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตระบบทวิภาค
  5. การค้นคว้าอิสระ ที่ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตระบบทวิภาค
  6. วิทยานิพนธ์ ที่ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตระบบทวิภาค

 

คุณสมบัติการเข้าเป็นนิสิต และการขึ้นทะเบียนนิสิต

ข้อ 1 คุณวุฒิของผู้เข้าศึกษา

1.1 ประกาศนียบัตรบัณฑิต จะต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

1.2 ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง จะต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตหรือปริญญาโท หรือเทียบเท่า

1.3 ปริญญาโท จะต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

1.4 ปริญญาเอก จะต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าที่มีผลการเรียนดีมาก หรือปริญญาโทหรือเทียบเท่า และมีผลการสอบภาษาอังกฤษได้ตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนด

 

ข้อ 2 คุณสมบัติของผู้สมัครเข้าเป็นนิสิต

2.1 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย สามารถปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัยของสังคมและของมหาวิทยาลัยรวมถึงเป็นผู้ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสียร้ายแรง

2.2 ไม่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาหรือโรคติดต่อร้ายแรง

2.3 ไม่เคยต้องโทษในคดีอาญา เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และ/หรือ

2.4 มีคุณสมบัติอื่นตามที่หลักสูตรสาขาวิชาที่สมัครเข้าศึกษากำหนดสำหรับผู้สมัครที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่กำหนดให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการบัณฑิตศึกษา

ข้อ 3 การรับเข้าศึกษา

3.1 มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตามข้อ 11 และ 12 เข้า เป็นนิสิตโดยมีการทดสอบความรู้ อาจเป็นการสอบข้อเขียน การสอบสัมภาษณ์ หรือวิธีอื่นใดตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

3.2 ในกรณีที่ผู้สมัครกำลังรอผลการศึกษาระดับปริญญาขั้นใดขั้นหนึ่งอยู่ การรับเข้าศึกษาจะมีผลสมบูรณ์ เมื่อผู้สมัครได้แสดงหลักฐานว่าสำเร็จการศึกษาแล้วก่อนวันรายงานตัวเป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยตามวัน เวลาที่กำหนด

ข้อ 4 การขึ้นทะเบียนนิสิต

4.1 ผู้ที่สมัครเข้าเป็นนิสิต จะมีสภาพเป็นนิสิตต่อเมื่อได้ขึ้นทะเบียนนิสิตพร้อมทั้งชำระค่าหน่วยกิต ค่าบำรุง ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามวัน เวลาที่กำหนด

4.2 ผู้ที่ได้รับการพิจารณาให้เข้าศึกษาตามประกาศของมหาวิทยาลัย จะต้องไปรายงานตัวเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นนิสิตด้วยตนเองตามวันและเวลาที่กำหนด ผู้ที่ไม่อาจขึ้นทะเบียนเป็นนิสิตตามวันและเวลาที่กำหนดจะต้องแจ้งให้มหาวิทยาลัยทราบภายใน 15 วัน มิฉะนั้นจะถือว่าสละสิทธิ์

4.3 ผู้ที่สมัครเข้าศึกษาจะขึ้นทะเบียนนิสิตในหลักสูตรเกินกว่าหนึ่งหลักสูตรในปีการศึกษาเดียวกันไม่ได้

ข้อ 5 ประเภทนิสิต

5.1 นิสิตสามัญ คือ บุคคลที่มหาวิทยาลัยรับเข้าเป็นนิสิตตามข้อ 13.1

5.2 นิสิตพิเศษ คือ ผู้ที่ประสงค์ขอเข้าศึกษาในรายวิชาที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัย โดยไม่ขอรับปริญญาบัตร

5.3 นิสิตทดลองเรียน คือ ผู้ที่ไม่ผ่านบางเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด มหาวิทยาลัยอาจพิจารณาอนุมัติให้เข้าศึกษา โดยต้องทำคะแนนในภาคการศึกษาแรกให้ได้ 3.00 จึงจะได้รับการปรับสถานะเป็นนิสิตสามัญ

 

ข้อ 6 การลงทะเบียนเรียน และระยะเวลาการศึกษา ให้ลงทะเบียนเรียนได้ไม่เกิน 15 หน่วยกิต ในแต่ละภาคการศึกษาปกติ และลงทะเบียนเรียนภาคฤดูร้อนได้ไม่เกิน 9 หน่วยกิต

6.1 ประกาศนียบัตรบัณฑิตและประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ให้ใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 3 ปีการศึกษา

6.2 ปริญญาโท ให้ใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 5 ปีการศึกษา

6.3 ปริญญาเอก ผู้ที่สำเร็จปริญญาตรีแล้วเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกให้ใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 8 ปีการศึกษา ส่วนผู้ที่สำเร็จปริญญาโทแล้วเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกให้ใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 6 ปีการศึกษา

6.4 การลงทะเบียนเรียนสำหรับผู้เข้าศึกษาแบบไม่เต็มเวลา มหาวิทยาลัยกำหนดจำนวนหน่วยกิตที่ให้ลงทะเบียนเรียนได้ในแต่ละภาคการศึกษาปกติ โดยเทียบเคียงกับจำนวนหน่วยกิต ที่กำหนดข้างต้นในสัดส่วนที่เหมาะสม

6.5 หากมีเหตุผลและความจำเป็นพิเศษ ในกรณีการลงทะเบียนเรียนที่มีจำนวนหน่วยกิต แตกต่างไปจากเกณฑ์ข้างต้นมหาวิทยาลัยจะดำเนินการโดยจะไม่กระทบกระเทือนต่อมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา

 

หลักสูตรการศึกษา โครงสร้างหลักสูตร และระยะเวลาศึกษา

  1. หลักสูตรการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา

1.1 หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตและประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง มุ่งให้ความสัมพันธ์สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาของชาติ ปรัชญาของการอุดมศึกษา ปรัชญาของมหาวิทยาลัย และมาตรฐานวิชาการและวิชาชีพ เน้นการพัฒนานักวิชาการและนักวิชาชีพให้มีความชำนาญในสาขาวิชาเฉพาะ เพื่อให้ความรู้ความเชี่ยวชาญ สามารถปฏิบัติงานได้ได้ดียิ่งขึ้นโดยเป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีลักษณะเบ็ดเสร็จในตัวเอง

1.2 หลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก มุ่งให้ความสัมพันธ์สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาของชาติ ปรัชญาของการอุดมศึกษาปรัชญาของมหาวิทยาลัยและมาตรฐานวิชาการ และวิชาชีพที่เป็นสากล เน้นการพัฒนานักวิชาการและนักวิชาชีพ ที่มีความรู้ความสามารถระดับสูง ในสาขาวิชาต่าง ๆ โดยกระบวนการวิจัยเพื่อให้สามารถบุกเบิกแสวงหาความรู้ใหม่ได้อย่างมีอิสระ รวมทั้ง มีความสามารถในการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ เชื่อมโยงและบูรณาการศาสตร์ที่ตนเชี่ยวชาญกับศาสตร์อื่นได้อย่างต่อเนื่อง มีคุณธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพ ทั้งนี้ในระดับปริญญาโท มุ่งให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการสร้างและประยุกต์ใช้ความรู้ใหม่เพื่อการพัฒนางานและสังคม ในขณะที่ระดับปริญญาเอก มุ่งให้มีความสามารถในการค้นคว้าวิจัยเพื่อสรรค์สร้างองค์ความรู้ใหม่หรือนวัตกรรม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางาน สังคมและประเทศ

  1. หลักเกณฑ์การใช้รหัสวิชาในหลักสูตร

ให้เป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดในแต่ละหลักสูตรโดยให้มีระบบและหลักการใช้รหัสวิชาในทุกหลักสูตรที่เหมือนกันและเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา

  1. โครงสร้างหลักสูตร

3.1 หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตและหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ให้มีจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต

3.2 หลักสูตรปริญญาโท ให้มีจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต โดยแบ่งการศึกษาเป็น 2 แผน คือ

-   แผน ก เป็นแผนการศึกษาที่เน้นการวิจัยโดยมีการทำวิทยานิพนธ์ ดังนี้

แบบ ก1 ทำเฉพาะวิทยานิพนธ์ซึ่งมีค่าเทียบได้ไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิตมหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้เรียนรายวิชาเพิ่มเติมหรือทำกิจกรรมทางวิชาการอื่นเพิ่มขึ้นก็ได้โดยไม่นับหน่วยกิตแต่จะต้องมีผลสัมฤทธิ์ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

แบบ ก2 ทำวิทยานิพนธ์ซึ่งมีค่าเทียบได้ไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต และศึกษางานรายวิชาอีกไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต

-   แผน ข เป็นแผนการศึกษาที่เน้นการศึกษางานรายวิชา โดยไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ แต่ต้องมีการค้นคว้าอิสระไม่น้อยกว่า 3 หน่วยกิต และไม่เกิน 6 หน่วยกิต

3.3 ปริญญาเอก แบ่งการศึกษาเป็น 2 แบบ โดยเน้นการวิจัยเพื่อพัฒนานักวิชาการ และนักวิชาชีพขั้นสูง คือ

-   แบบ 1 เป็นแผนการศึกษาที่เน้นการวิจัยโดยมีการทำวิทยานิพนธ์ที่ก่อให้เกิดความรู้ใหม่มหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้เรียนรายวิชาเพิ่มเติมหรือทำกิจกรรมทางวิชาการอื่นเพิ่มขึ้นก็ได้โดยไม่นับหน่วยกิต แต่จะต้องมีผลสัมฤทธิ์ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด ดังนี้

แบบ 1.1 ผู้เข้าศึกษาที่สำเร็จปริญญาโท จะต้องทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต

แบบ 1.2 ผู้เข้าศึกษาที่สำเร็จปริญญาตรี จะต้องทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 72 หน่วยกิต

ทั้งนี้ วิทยานิพนธ์ตามแบบ 1.1 และแบบ 1.2 จะต้องมีมาตรฐานและคุณภาพเดียวกัน

-   แบบ 2 เป็นแผนการศึกษาที่เน้นการวิจัยโดยมีการทำวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพสูง และก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพ และศึกษางานรายวิชาเพิ่มเติม ดังนี้

แบบ 2.1 ผู้เข้าศึกษาที่สำเร็จปริญญาโท จะต้องทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิตและศึกษางานรายวิชาอีกไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต

แบบ 2.2 ผู้เข้าศึกษาที่สำเร็จปริญญาตรี จะต้องทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิตและศึกษางานรายวิชาอีกไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต

ทั้งนี้ วิทยานิพนธ์ตามแบบ 2.1 และแบบ 2.2 จะต้องมีมาตรฐานและคุณภาพเดียวกัน

  1. การลงทะเบียนเรียน

4.1 การลงทะเบียนแต่ละภาคการศึกษาจะต้องได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาโดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ข้อกำหนดของหลักสูตรที่ศึกษา โดยมหาวิทยาลัยจะกำหนดวัน เวลา และวิธีการลงทะเบียนเรียนรายวิชาในแต่ภาคการศึกษา

4.2 นิสิตต้องรับผิดชอบการลงทะเบียนของตนเอง และการลงทะเบียนจะสมบูรณ์เมื่อนิสิตได้ชำระเงินค่าหน่วยกิต ค่าบำรุง ค่าธรรมเนียมการศึกษาและอื่น ๆ ภายในวัน เวลา ที่มหาวิทยาลัยกำหนด

4.3 จำนวนหน่วยกิตและรายวิชาที่ลงทะเบียน จะต้องเป็นไปตามแผนการเรียนที่กำหนด ทั้งนี้หากไม่เป็นไปตามแผนต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหลักสูตร

4.4 หากมีการปิดรายวิชาหรือกลุ่มเรียนใดที่มีนิสิตลงทะเบียนเรียนไปแล้ว นิสิตสามารถลงทะเบียนเรียนรายวิชาอื่นหรือกลุ่มเรียนอื่นทดแทน หรือขอเพิกถอนเพื่อโอนเงินค่าหน่วยกิตไปภาคการศึกษาถัดไปได้

4.5 ผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นนิสิตในภาคการศึกษาใด ต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชาในภาคการศึกษานั้นเป็นจำนวนหน่วยกิตไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด

4.6 นิสิตที่ไม่ได้ลงทะเบียนเรียนโดยสมบูรณ์ในภาคการศึกษาใดภายในกำหนดเวลาของมหาวิทยาลัยจะไม่มีสิทธิ์เรียนรายวิชานั้น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากผู้อำนวยการหลักสูตรและได้รับอนุมัติเป็นกรณีพิเศษจากอธิการบดีหรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมาย

  1. การขอถอนหรือขอเพิ่มรายวิชา

5.1 นิสิตต้องยื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัยเพื่อขอถอนหรือขอเพิ่มรายวิชา ทั้งนี้ ต้องได้รับการเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ประจำวิชาที่สอนรายวิชานั้นหรือผู้อำนวยการหลักสูตร และได้รับอนุมัติจากอธิการบดีหรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมาย

5.2 การขอถอนโดยไม่ติดสัญลักษณ์ “W” หรือขอเพิ่มรายวิชาต้องกระทำภายใน 2 สัปดาห์แรกของภาคการศึกษาปกติหรือภายในสัปดาห์แรกของภาคการศึกษาฤดูร้อน

5.3 การขอถอนรายวิชาติดสัญลักษณ์ “W” กระทำได้หลัง 2 สัปดาห์ และไม่เกิน 12 สัปดาห์ นับจากวันเปิดภาคการศึกษาปกติหรือหลัง 1 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 6 สัปดาห์ นับจากวันเปิดภาคการศึกษาฤดูร้อนโดยนิสิตไม่มีสิทธิ์ขอคืนหรือโอนค่าหน่วยกิต

 

การรักษาสถานภาพ การลาพักการศึกษา และการลาออก

  1. การลงทะเบียนเพื่อรักษาสถานภาพนิสิต

1.1 นิสิตที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาครบตามที่กำหนดในหลักสูตรแต่ยังไม่สำเร็จการศึกษา ต้องลงทะเบียนชำระ ค่าธรรมเนียมการศึกษาเพื่อรักษาสถานภาพ ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดทุกภาคการศึกษา เพื่อรักษาสถานภาพนิสิตจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา

1.2 การลงทะเบียนเพื่อรักษาสถานภาพนิสิต ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์ที่ 8 นับจากวันเปิดภาคการศึกษา

  1. การลาพักการเรียน

2.1 นิสิตที่มีความจำเป็นต้องลาพักการเรียน อาจยื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัย โดยผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาและ/หรือผู้อำนวยการหลักสูตรและได้รับอนุมัติจากอธิการบดีหรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมายภายในสัปดาห์ที่ 3 ของภาคเรียนที่ขอลาพัก ทั้งนี้ นิสิตได้ลงทะเบียนเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วอย่างน้อย 1 ภาคการศึกษา

2.2 การลาพักการเรียนให้อนุมัติได้ครั้งละไม่เกิน 1 ภาคการศึกษา ถ้านิสิตยังมีความจำเป็นต้องขอลาพักการเรียนต่อไปอีก ให้ยื่นคำร้องใหม่

2.3 ให้นับระยะเวลาที่ขอลาพักการเรียนรวมอยู่ในระยะเวลาการศึกษาด้วย

2.4 ในระหว่างการลาพักการเรียน นิสิตต้องชำระค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่มหาวิทยาลัยกำหนดเพื่อรักษาสถานภาพนิสิต

2.5 หลังการลาพักการเรียน หากนิสิตจะกลับเข้าเรียน ต้องยื่นคำร้องขอกลับเข้าเรียนต่อก่อนวันเปิดภาคการศึกษาไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์

  1. การลาออก

นิสิตที่ประสงค์จะลาออกจากการเป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยให้ยื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัย โดยผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาและ/หรือผู้อำนวยการหลักสูตร และได้รับอนุมัติจากอธิการบดีหรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมาย

การวัดประเมินผลการศึกษา

1. การมีสิทธิ์เข้าสอบ นิสิตต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมดจึงมีสิทธิ์เข้าสอบปลายภาค หากนิสิตมีเวลาเรียนน้อยกว่าร้อยละ 80 แต่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ให้ยื่นคำร้องขอสอบผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อให้ผู้ที่อธิการบดีมอบหมายพิจารณา

 

2. การวัดและประเมินผลการศึกษา อาจกระทำได้โดยการสอบหรือการทำรายงานจากการอ่าน การศึกษา การค้นคว้าหรือการเขียนรายงาน หรือการเข้าร่วมอภิปรายในชั้น หรือทุกอย่างที่กล่าวมาในระหว่างภาคการศึกษา

 

3. ระบบการให้คะแนนการเรียนรายวิชา

3.1 ให้มีการประเมินผลการศึกษาในรายวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตรเมื่อสิ้นสุดการศึกษาในแต่ละภาคโดยการประเมินแบ่งเป็น 2 ระบบดังนี้

 

อักษรที่มีค่าเป็นระดับคะแนนประกอบด้วยอักษรจำนวน 8 ค่าระดับ ดังนี้

อักษรระดับคะแนน

ความหมาย

ค่าระดับคะแนน

A ดีเยี่ยม (Excellent)

4.0

B+ ดีมาก (Very Good)

3.5

B ดี (Good)

3.0

C+ ดีพอใช้ (Fairly Good)

2.5

C พอใช้ (Fair)

2.0

D+ ค่อนข้างอ่อน (Fairly Poor)

1.5

D อ่อน (Poor)

1.0

F ตก (Fail)

0

ระบบที่ไม่มีค่าระดับคะแนน กำหนดสัญลักษณ์การประเมินผลดังนี้

สัญลักษณ์

ความหมาย

I

การประเมินผลยังไม่สมบูรณ์ (Incomplete)

S

ผลการเรียนเป็นที่พอใจ (Satisfactory)

U

ผลการเรียนไม่เป็นที่พอใจ (Unsatisfactory)

W

การยกเลิกรายวิชาโดยได้รับอนุมัติ (Withdrawal)

AU

การร่วมฟังการบรรยายโดยไม่นับหน่วยกิต (Audit)

IP

การศึกษายังไม่สิ้นสุด (In Progress)

CS

การเทียบโอนหน่วยกิตจากการทดสอบมาตรฐาน (credits from standardized tests)

CE

การเทียบโอนหน่วยกิตจากการทดสอบที่ไม่ใช่การทดสอบมาตรฐาน(credits from exam)

CP

การเทียบโอนหน่วยกิตโดยการประเมินประสบการณ์การทำงานผลการปฏิบัติงาน และจากการเสนอแฟ้มสะสมงาน(credits from portfolio)

CT

การเทียบโอนจากการประเมินการศึกษาหรือการฝึกอบรมที่จัดโดยหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่สถาบันอุดมศึกษา และ การเทียบโอนจากการฝึกอบรมที่จัดโดยสถาบันอุดมศึกษาให้บันทึก “CT” (credits from training)

T

การเทียบโอนหน่วยกิตจากระบบการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัย(transfer by grading)

3.2 การให้ระดับคะแนนอักษร A, B+, B, C+, C, D+, D และ F กระทำได้ในกรณีที่เป็นรายวิชาที่นิสิตเข้าสอบและ (มีสัญลักษณ์) หรือมีผลงานที่ประเมินได้เป็นลำดับขั้นตอนตามที่หลักสูตรกำหนด

3.3 การให้ I ในรายวิชาใดให้กระทำได้ในกรณีที่อาจารย์ผู้สอนเห็นสมควรให้รอผลการศึกษา เพราะนิสิตยังปฏิบัติงานซึ่งเป็นส่วนประกอบการศึกษารายวิชานั้นยังไม่สมบูรณ์ นิสิตที่ได้รับคะแนน I จะต้องดำเนินการขอรับการประเมินผลเพื่อเปลี่ยนระดับ I ให้เสร็จสิ้นภายในภาคการศึกษาถัดไปที่นิสิตมีสิทธิ์ลงทะเบียนเรียนหากพ้นกำหนดดังกล่าวมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนระดับคะแนน I เป็น F โดยอัตโนมัติ

3.4 การให้สัญลักษณ์ S จะกระทำได้ในรายวิชาปรับพื้นฐานหรือรายวิชาที่หลักสูตรกำหนดไว้ว่าให้ประเมินผลเป็นระดับคะแนนตัวอักษรโดยไม่เป็นลำดับขั้น หรือรายวิชานอกจากที่กำหนดไว้ในหลักสูตร และผลการเรียนในรายวิชานั้นเป็นที่พอใจของอาจารย์ผู้สอน
3.5 การให้สัญลักษณ์ U ในรายวิชาใด และผลการเรียนในรายวิชานั้นไม่เป็นที่พอใจของอาจารย์ผู้สอน

3.6 การให้ AU ในรายวิชาใดให้กระทำได้ในกรณีที่นิสิตได้อนุมัติให้ลงทะเบียนเพื่อร่วมฟังโดยไม่นับหน่วยกิต

3.7 การให้สัญลักษณ์ IP ในรายวิชาใด กระทำได้เฉพาะรายวิชาที่มีผลการเรียนหรือปฏิบัติงานต่อเนื่องกันมากกว่า 1 ภาคการศึกษาและ (มีสัญลักษณ์) หรือการศึกษารายวิชานั้นยังไม่สิ้นสุด สัญลักษณ์ IP จะถูกเปลี่ยนเมื่อการเรียนหรือการปฏิบัติงานในรายวิชานั้นสิ้นสุดและมีการประเมินผลการศึกษา

3.8 การให้ F ให้กระทำได้ในกรณีต่อไปนี้

(1)   นิสิตขาดสอบประจำภาคการศึกษา โดยไม่ได้รับอนุมัติ
(2)   นิสิตร่วมกิจกรรมการเรียนไม่ครบตามเกณฑ์
(3)   นิสิตทุจริตในการสอบ
(4)   นิสิตที่ได้ระดับคะแนน I แต่มิได้ดำเนินการขอประเมินผลเพื่อแก้ระดับคะแนน I ให้เสร็จสิ้นภายในภาคเรียนถัดไปที่นิสิตมีสิทธิ์ลงทะเบียน
(5)   นิสิตเข้าสอบและสอบตก

3.9 การให้ W ในรายวิชาใดให้กระทำได้ในกรณีต่อไปนี้

(1)   นิสิตได้รับอนุมัติให้ถอนการเรียนรายวิชานั้น
(2)   นิสิตได้รับอนุมัติให้ลาพักการเรียนหลังจากได้ลงทะเบียนเรียนแล้ว
(3)   นิสิตถูกสั่งพักการเรียนในภาคเรียนนั้น

3.10  กรณีนิสิตที่ขอเข้าร่วมเรียน ประสงค์ให้มหาวิทยาลัยวัดผล ให้ยื่นใบคำร้องทั่วไปเพื่อแจ้งความจำนงในการขอรับการวัดผลตั้งแต่ครั้งแรกที่ลงทะเบียนรายวิชานั้น
3.11  ในกรณีที่นิสิตลงทะเบียนเรียนรายวิชาที่ระบุไว้เป็นรายวิชาที่เทียบเท่ากันให้นับ หน่วยกิตสะสมเฉพาะรายวิชาหนึ่งรายวิชาใดเท่านั้น
3.12  ผลการประเมินวิทยานิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ ที่แบ่งหน่วยกิตลงทะเบียน และการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์เป็นดังนี้

ผลการประเมิน

ความหมาย

S

ผ่าน (Satisfactory)

U

ไม่ผ่าน (Unsatisfactory)

3.13  ผลการสอบวิทยานิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ และการประเมินวิทยานิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระทั้งฉบับ แสดงด้วยสัญลักษณ์ต่อไปนี้

ผลการประเมิน

ความหมาย

Excellent

ดีเยี่ยม

Good

ดี

Pass

ผ่าน

Failed

ไม่ผ่าน

4. การนับหน่วยกิตและการคำนวณหาค่าระดับคะแนนเฉลี่ยและระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม

4.1  การนับหน่วยกิตสะสมเพื่อให้ครบตามจำนวนที่กำหนดในหลักสูตรให้นับเฉพาะหน่วยกิตของรายวิชาที่สอบได้และได้รับโอนมา
4.2  การนับจำนวนหน่วยกิตเพื่อใช้ในการคำนวณหาค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมให้นับจากรายวิชาที่มีการประเมินผลการศึกษาที่มีค่าระดับคะแนน
4.3 ค่าระดับคะแนนเฉลี่ยประจำภาคเรียน และค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมให้คำนวณเป็นเลขทศนิยม 2 ตำแหน่งไม่ปัดเศษ สำหรับรายวิชาที่ยังมีผลการศึกษาเป็น “I” ไม่นำหน่วยกิตมารวมเป็นตัวหารเฉลี่ยในภาคเรียนนั้น

 

5. การเรียนเพิ่ม

กรณีที่นิสิตเรียนรายวิชาครบหลักสูตรแต่คะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ถึง 3.00 นิสิตต้องลงทะเบียนเรียนเพิ่มรายวิชาอื่น โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของอาจารย์ที่ปรึกษา

 

6. การทุจริตในการสอบ หรือการทำวิทยานิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ มหาวิทยาลัยมีอำนาจสั่งให้

6.1 ตกในรายวิชานั้น
6.2 ตกในรายวิชานั้น และพักการเรียนในภาคเรียนถัดไป หรือ
6.3 พ้นสภาพนิสิต

การจำแนกสถานภาพ และการพ้นสภาพนิสิต

  1. การจำแนกสถานภาพของนิสิต

1.1 นิสิตปกติ คือ นิสิตที่มีค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ 3.00 ขึ้นไป

1.2 นิสิตรอพินิจ คือ นิสิตที่มีค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 3.00

  1. การพ้นสภาพนิสิต

นิสิตจะต้องพ้นสภาพนิสิตในกรณีต่อไปนี้

2.1 ได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัยให้ลาออก หรือ
2.2 สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร หรือ
2.3 ถูกคัดชื่อออกจากมหาวิทยาลัยในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ไม่ลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนแรกที่ขึ้นทะเบียนเป็นนิสิต
(2) ไม่ชำระเงินเพื่อรักษาสภาพนิสิต
(3) ขาดคุณสมบัติการเข้าเป็นนิสิตอย่างใดอย่างหนึ่ง
(4) ไม่สามารถสำเร็จการศึกษาภายในระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนดไว้
(5) ประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง
(6) ตายหรือลาออก
(7) ลาพักเกิน 2 ภาคการศึกษา ติดต่อกันโดยไม่รับอนุมัติ
(8) มหาวิทยาลัยสั่งให้พ้นสภาพนิสิต
(9) ไม่รักษาสภาพการเป็นนิสิตโดยไม่มีเหตุผลสมควร

การสอบประมวลความรู้ การทำวิทยานิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ

  1. หลักสูตรปริญญาโท

1.1 นิสิตหลักสูตรปริญญาโทที่เลือกศึกษาแผน ข ต้องสอบประมวลความรู้ (Comprehensive examination) ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของสาขาวิชานั้น ๆ และต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด
1.2 การสอบประมวลความรู้ประกอบด้วย การสอบข้อเขียน และ/หรือการสอบปากเปล่า
1.3 นิสิตที่มีสิทธิ์สอบประมวลความรู้จะต้องศึกษาและสอบผ่านรายวิชาครบถ้วนตามหลักสูตรกำหนดไว้และได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00
1.4 ให้มหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบประมวลความรู้ ไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกิน 5 คน โดยการเสนอของผู้อำนวยการหลักสูตร และคณะกรรมการหลักสูตร
1.5 การสอบประมวลความรู้ข้อเขียน และ/หรือการสอบประมวลความรู้ปากเปล่าให้สอบได้ไม่เกิน 3 ครั้ง แต่ถ้ายังสอบไม่ผ่านให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการหลักสูตรของแต่ละหลักสูตรหรือคณะกรรมการบัณฑิตศึกษา

  1. หลักสูตรปริญญาเอก

2.1 การสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying examination) ประกอบด้วย การสอบข้อเขียน และ/หรือ การสอบปากเปล่า
2.2 นิสิตที่มีสิทธิ์สอบวัดคุณสมบัติ จะต้องศึกษาและสอบผ่านรายวิชาครบถ้วนตามหลักสูตรกำหนดไว้และได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00
2.3 ให้มหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวัดคุณสมบัติ ไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกิน 5 คน โดยการเสนอของผู้อำนวยการหลักสูตร และคณะกรรมการหลักสูตร
2.4 การสอบวัดคุณสมบัติ ข้อเขียน และ/หรือการสอบวัดคุณสมบัติ ปากเปล่าให้สอบได้ไม่เกิน 3 ครั้ง แต่ถ้ายังสอบไม่ผ่านให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการหลักสูตรของแต่ละหลักสูตรหรือคณะกรรมการบัณฑิตศึกษา

  1. ขั้นตอนการเสนอหัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์

3.1 นิสิตลงทะเบียนวิทยานิพนธ์ เพื่อเสนอหัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์ตามกระบวนการที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยหัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์จะต้องเกี่ยวกับสาขาวิชาที่ศึกษาและได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร และคณะกรรมการหลักสูตร
3.2 นิสิตเข้าชี้แจงและตอบข้อซักถามที่เกี่ยวกับหัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาหัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์ตามวันและเวลาที่หลักสูตรกำหนด การเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกี่ยวกับหัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาหัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์แล้วต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหลักสูตร
3.3 มหาวิทยาลัย และ/หรือ หลักสูตรจะประกาศอนุมัติหัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์ เพื่อให้นิสิตมีสิทธิดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ในหัวข้อที่ได้รับความเห็นชอบต่อไป

  1. การเรียบเรียงวิทยานิพนธ์

4.1 นิสิตจะต้องเรียบเรียงเนื้อหา การศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ในหัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์ที่ได้รับความเห็นชอบภายใต้คำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม (ถ้ามี)
4.2 นิสิตต้องรายงานความก้าวหน้าในการทำวิทยานิพนธ์ให้อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม (ถ้ามี) ตามเวลาที่อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์กำหนด
4.3 รูปแบบการเรียบเรียงวิทยานิพนธ์ต่าง ๆ รวมทั้งการอ้างอิง การนำเสนอ และอื่น ๆ ให้เป็นไปตามคู่มือการเขียนวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัย
4.4 การเรียบเรียงอาจทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นก็ได้ แต่ต้องมีบทคัดย่อทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ในกรณีทำเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นจะต้องได้รับการตรวจแก้ภาษาจากผู้ทรงคุณวุฒิในภาษานั้น

  1. การสอบวิทยานิพนธ์

5.1 นิสิตจะต้องได้รับอนุมัติจากอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม (ถ้ามี) ให้สอบวิทยานิพนธ์ได้ จึงมีสิทธิยื่นขอสอบวิทยานิพนธ์

5.2 นิสิตจะยื่นขอสอบวิทยานิพนธ์ต่อเมื่อได้ลงทะเบียนวิทยานิพนธ์ครบถ้วนตามข้อกำหนดของหลักสูตร

5.3 นิสิตจะต้องพิมพ์วิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์เพื่อยื่นขอสอบให้แก่กรรมการสอบวิทยานิพนธ์ก่อนกำหนดวันสอบไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์ และสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้ง

5.4  ให้มหาวิทยาลัยแต่งตั้งประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์และกรรมการสอบร่วม ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 9.3.4 โดยการเสนอของผู้อำนวยการหลักสูตรและคณะกรรมการหลักสูตรของแต่ละหลักสูตร

5.5 ให้ประธานกรรมการตามข้อ 33 (4) รายงานผล และ/หรือ เงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดให้นิสิตปรับแก้หลังการสอบ ตลอดจนประมวลผลสมบูรณ์สุดท้ายให้มหาวิทยาลัยทราบ

5.6 หากคณะกรรมการตามข้อ 33 (4) มีมติให้แก้ไขปรับปรุง นิสิตจะต้องแก้ไขปรับปรุงวิทยานิพนธ์ตามมติของคณะกรรมการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน มิฉะนั้นจะถือว่าสอบไม่ผ่าน

5.7 ในกรณีที่มีข้อขัดแย้งทางวิชาการหรือข้อขัดแย้งอื่น ๆ ให้คณะกรรมการบัณฑิตศึกษาเป็นผู้พิจารณาตามข้อเสนอของประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ และคำวินิจฉัยนั้นถือเป็นที่สุด

5.8 นิสิตระดับปริญญาโทที่สอบวิทยานิพนธ์ 2 ครั้งแล้วไม่ผ่าน หากประสงค์จะเปลี่ยนแปลงแผนการศึกษาเป็นแผน ข ต้องยื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัยผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาและคณะกรรมการหลักสูตรของแต่ละหลักสูตร เมื่อได้รับอนุมัติแล้วต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของหลักสูตรนั้น

5.9 นิสิตระดับปริญญาโทที่สอบวิทยานิพนธ์ 2 ครั้งแล้วไม่ผ่าน ให้คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์เป็นผู้วินิจฉัยว่าสมควรสอบครั้งที่ 3 หรือไม่ และเสนอให้ผู้อำนวยการหลักสูตรและคณะกรรมการหลักสูตรของแต่ละหลักสูตรเป็นผู้อนุมัติ

5.10 นิสิตจะต้องส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ที่ผ่านการตรวจและรับรองจากคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์และผู้อำนวยการหลักสูตร จำนวน 3 เล่ม บทคัดย่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษจำนวน 10 ชุด และบันทึกในรูปแบบซีดีรอมจำนวน 2 แผ่น รวมทั้งบทความ 1 ชุด

5.11 ในกรณีที่นิสิตที่ยังไม่ส่งวิทยานิพนธ์หรือรายงานการค้นคว้าอิสระฉบับสมบูรณ์ ให้ถือว่านิสิตผู้นั้นยังไม่สำเร็จการศึกษา นิสิตจะต้องลงทะเบียนรักษาสถานภาพทุกภาคการศึกษาจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา

5.12 ผลงานวิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติหรือระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษาเรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ หรือนำเสนอต่อที่ประชุมวิชาการโดยบทความที่นำเสนอฉบับสมบูรณ์ (Full Paper)ได้รับการตีพิมพ์ในรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการ (Proceedings) ดังกล่าว

เกณฑ์การสำเร็จการศึกษา และการอนุมัติปริญญา

  1. เกณฑ์การสำเร็จการศึกษา นิสิตจะต้องปฏิบัติดังนี้

(1) ประกาศนียบัตรบัณฑิตและประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ต้องเรียนครบตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในหลักสูตรและต้องได้รับคะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 จากระบบ 4 ระดับคะแนนหรือเทียบเท่า

 

(2) ปริญญาโท

แผน ก แบบ ก 1 เสนอวิทยานิพนธ์และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้ง และต้องเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้สำหรับผลงานวิทยานิพนธ์ หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์ หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ หรือระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษาเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ

แผน ก แบบ ก 2 ศึกษารายวิชาครบถ้วนตามที่กำหนดในหลักสูตร โดยจะต้องได้รับคะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 จากระบบ 4 ระดับคะแนนหรือเทียบเท่าพร้อมทั้งเสนอวิทยานิพนธ์และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้ง และต้องเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้

ผลงานวิทยานิพนธ์ หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติหรือระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ หรือนำเสนอต่อที่ประชุมวิชาการโดยบทความที่นำเสนอฉบับสมบูรณ์ (Full Paper) ได้รับการตีพิมพ์ในรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการ (Proceedings) ดังกล่าว

แผน ข ศึกษารายวิชาครบถ้วนตามที่กำหนดในหลักสูตร โดยจะต้องได้รับคะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 จากระบบ 4 ระดับคะแนนหรือเทียบเท่า และสอบผ่านการสอบประมวลความรู้ (Comprehensive Examination) ด้วยข้อเขียนและ / หรือปากเปล่าในสาขาวิชานั้น พร้อมทั้งเสนอรายงานการค้นคว้าอิสระ และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้ง โดยเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้และรายงานการค้นคว้าอิสระหรือส่วนหนึ่งของรายงานการค้นคว้าอิสระต้องได้รับการเผยแพร่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่สืบค้นได้

 

(3) ปริญญาเอก

แบบ 1 สอบผ่านการสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination) เพื่อเป็นผู้มีสิทธิขอทำวิทยานิพนธ์ เสนอวิทยานิพนธ์ และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้ง ซึ่งจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายในและภายนอกสถาบันและต้องเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้

สำหรับผลงานวิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติหรือนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการอย่างน้อย 2 เรื่อง

แบบ 1 ศึกษารายวิชาครบถ้วนตามที่กำหนดในหลักสูตร โดยจะต้องได้ระดับคะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 จากระบบ 4 ระดับคะแนน/เทียบเท่า สอบผ่านการสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination) เพื่อเป็นผู้มีสิทธิขอทำวิทยานิพนธ์ เสนอวิทยานิพนธ์และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้ง ซึ่งจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายในและภายนอกสถาบันและต้องเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้หรับผลงานวิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติหรือนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ