ระบบการศึกษา การคิดหน่วยกิต จำนวนหน่วยกิตรวม และระยะเวลาการศึกษา

ระบบการศึกษา

มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาโดยใช้ระบบทวิภาค 1 ปีการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษาปกติ 1 ภาคการศึกษาปกติมีระยะเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์ การเปิดการศึกษาภาคฤดูร้อน ให้กำหนดระยะเวลาและจำนวนหน่วยกิตโดยมีสัดส่วนเทียบเคียงกันได้กับการศึกษาภาคปกติ

การคิดหน่วยกิต
การคิดหน่วยกิต หมายถึง หน่วยที่แสดงปริมาณการศึกษาซึ่งมหาวิทยาลัยจัดให้แก่นิสิต โดยมีวิธีการคิดหน่วยกิต ดังนี้

  1. รายวิชาภาคทฤษฎี ที่ใช้เวลาบรรยายหรืออภิปรายปัญหาไม่น้อยกว่า 15 ชั่วโมงต่อ ภาคการศึกษาปกติ ให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตระบบทวิภาค
  2. รายวิชาภาคปฏิบัติ ที่ใช้เวลาฝึกหรือทดลองไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติ ให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตระบบทวิภาค
  3. การฝึกงานหรือการฝึกภาคสนาม ที่ใช้เวลาฝึกไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติ ให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตระบทวิภาค
  4. การทำโครงงานหรือกิจกรรมการเรียนอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายที่ใช้เวลาทำโครงงานหรือกิจกรรมนั้น ๆ ไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติ ให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต ระบบทวิภาค

จำนวนหน่วยกิตรวมและระยะเวลาการศึกษา

  1. หลักสูตรปริญญาตรี (4 ปี) ให้มีจำนวนหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 120 หน่วยกิตใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 8 ปีการศึกษา สำหรับการลงทะเบียนเรียนเต็มเวลา และไม่เกิน 12 ปีการศึกษาสำหรับการลงทะเบียนเรียนไม่เต็มเวลา
  2. หลักสูตรปริญญาตรี (5 ปี) ให้มีจำนวนหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 150 หน่วยกิตใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 10 ปีการศึกษา สำหรับการลงทะเบียนเรียนเต็มเวลา และไม่เกิน 15 ปีการศึกษา สำหรับการลงทะเบียนเรียนไม่เต็มเวลา
  3. หลักสูตรปริญญาตรี (ไม่น้อยกว่า 6 ปี) ให้มีจำนวนหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 180 หน่วยกิต ใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 12 ปีการศึกษา สำหรับการลงทะเบียนเรียนเต็มเวลา และไม่เกิน 18 ปีการศึกษา สำหรับการลงทะเบียนเรียนไม่เต็มเวลา
  4. หลักสูตรปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) ให้มีจำนวนหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 72 หน่วยกิตใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 4 ปีการศึกษา สำหรับการลงทะเบียนเรียนเต็มเวลา และไม่เกิน 6 ปีการศึกษา สำหรับ การลงทะเบียนเรียนไม่เต็มเวลา

ทั้งนี้ การนับเวลาศึกษามหาวิทยาลัยจะเริ่มนับจากวันที่เปิดภาคการศึกษาแรกที่รับเข้าศึกษาในหลักสูตรนั้น

หลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรี โครงสร้างหลักสูตร และอาจารย์ประจำหลักสูตร

โครงสร้างหลักสูตร

ประกอบด้วยหมวดวิชาศึกษาทั่วไป หมวดวิชาเฉพาะ และหมวดวิชาเลือกเสรี โดยมีสัดส่วนจำนวนหน่วยกิตของแต่ละหมวดวิชา ดังนี้

 

1. หมวดวิชาศึกษาทั่วไป หมายถึง หมวดวิชาที่เสริมสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้มีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง เข้าใจ และเห็นคุณค่าของตนเอง ผู้อื่น สังคม ศิลปวัฒนธรรมและธรรมชาติ ใส่ใจต่อความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรมพร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของสังคมไทยและสังคมโลกรายวิชาภาคปฏิบัติ ที่ใช้เวลาฝึกหรือทดลองไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติ ให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตระบบทวิภาค

 

การจัดรายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปมหาวิทยาลัยอาจจัดในลักษณะจำแนกเป็นรายวิชาหรือลักษณะบูรณาการใด ๆก็ได้ โดยผสมผสานเนื้อหาวิชาครอบคลุมสาระของกลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ภาษาและกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปทั้งนี้ให้มีจำนวนหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต

 

อนึ่ง การจัดวิชาศึกษาทั่วไปสำหรับหลักสูตรปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) มหาวิทยาลัยอาจยกเว้นรายวิชาที่ได้ศึกษามาแล้วในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงหรือระดับอนุปริญญา ทั้งนี้ จำนวนหน่วยกิตของรายวิชาที่ได้รับการยกเว้นดังกล่าว เมื่อนับรวมกับรายวิชาที่จะศึกษาเพิ่มเติมในหลักสูตรปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) ต้องไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต


2. หมวดวิชาเฉพาะ หมายถึง วิชาแกน วิชาเฉพาะด้าน วิชาพื้นฐานวิชาชีพและวิชาชีพที่มุ่งหมายให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติงานได้ โดยให้มีจำนวนหน่วยกิตรวม ดังนี้

2.1 หลักสูตรปริญญาตรี (4 ปี) ทางวิชาการ ให้มีจำนวนหน่วยกิตหมวดวิชาเฉพาะรวมไม่น้อยกว่า72 หน่วยกิต
2.2 หลักสูตรปริญญาตรี (4 ปี) ทางวิชาชีพหรือปฏิบัติการ ให้มีจำนวนหน่วยกิตหมวดวิชาเฉพาะรวมไม่น้อยกว่า 72 หน่วยกิต โดยต้องเรียนวิชาทางปฏิบัติการตามที่มาตรฐานวิชาชีพกำหนด หากไม่มีมาตรฐานวิชาชีพกำหนดต้องเรียนวิชาทางปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต และทางทฤษฎีไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต
หลักสูตร (ต่อเนื่อง) ให้มีจำนวนหน่วยกิตหมวดวิชาเฉพาะรวมไม่น้อยกว่า 42 หน่วยกิต ในจำนวนนั้น
ต้องเป็นวิชาทางทฤษฏีไม่น้อยกว่า 18 หน่วยกิต
2.3 หลักสูตรปริญญาตรี (5 ปี) ให้มีจำนวนหน่วยกิตหมวดวิชาเฉพาะรวมไม่น้อยกว่า 90 หน่วยกิต
2.4 หลักสูตรปริญญาตรี (ไม่น้อยกว่า 6 ปี) ให้มีจำนวนหน่วยกิตหมวดวิชาเฉพาะรวมไม่น้อยกว่า108 หน่วยกิต
มหาวิทยาลัยอาจจัดหมวดวิชาเฉพาะในลักษณะวิชาเอกเดี่ยว วิชาเอกคู่ หรือวิชาเอกและวิชาโทก็ได้ โดยวิชาเอกต้องมีจำนวนหน่วยกิตไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต และวิชาโทต้องมีจำนวน หน่วยกิตไม่น้อยกว่า15 หน่วยกิต ในกรณีที่จัดหลักสูตรแบบวิชาเอกคู่ต้องเพิ่มจำนวนหน่วยกิตของวิชาเอกอีกไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิตและให้มีจำนวนหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 150 หน่วยกิต
สำหรับหลักสูตรปริญญาตรีแบบก้าวหน้า ผู้เรียนต้องเรียนวิชาระดับบัณฑิตศึกษาในหมวดวิชาเฉพาะไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต


3. หมวดวิชาเลือกเสรี หมายถึง วิชาที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ ตามที่ตนเองถนัดหรือสนใจโดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกเรียนรายวิชาใด ๆ ในหลักสูตรระดับปริญญาตรี โดยให้มีจำนวน หน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต
มหาวิทยาลัยอาจยกเว้นหรือเทียบโอนหน่วยกิตรายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป หมวดวิชาเฉพาะ และหมวดวิชาเลือกเสรี ให้กับนิสิตที่มีความรู้ความสามารถ ที่สามารถวัดมาตรฐานได้ ทั้งนี้ นิสิตต้องศึกษาให้ครบตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การเทียบโอนผลการเรียน
ระดับปริญญาเข้าสู่การศึกษาในระบบ และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการเทียบโอนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

จำนวนหน่วยกิตที่นิสิตจะลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคการศึกษา มีดังนี้

  1. ให้ลงทะเบียนเรียนได้ไม่น้อยกว่า 9 หน่วยกิต และไม่เกิน 22 หน่วยกิต ในแต่ละภาคการศึกษาปกติสำหรับการลงทะเบียนเรียนเต็มเวลา และให้ลงทะเบียนเรียนได้ไม่เกิน 9 หน่วยกิตในแต่ละภาคการศึกษาปกติสำหรับการลงทะเบียนเรียนไม่เต็มเวลา
  2. ในภาคฤดูร้อนจะลงทะเบียนเรียนได้ไม่เกิน 9 หน่วยกิต
  3. นิสิตอาจลงทะเบียนเรียนโดยมีจำนวนหน่วยกิตสูงกว่าหรือต่ำกว่าตามที่ได้กำหนดไว้ ในกรณีที่จะขอสำเร็จการศึกษาในภาคการศึกษานั้น ทั้งนี้ต้องไม่กระทบกระเทือนต่อมาตรฐานคุณภาพการศึกษา โดยให้นิสิตเสนอผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาผ่านคณะกรรมการรับผิดชอบหลักสูตรและคณะ โดยมหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ
  4. การลงทะเบียนของนิสิตที่อยู่ในสภาพรอพินิจ จะต้องลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคการศึกษาปกติไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต และไม่เกิน 12 หน่วยกิต และในภาคฤดูร้อนจะลงทะเบียนเรียนได้ไม่เกิน 6 หน่วยกิต

การขอถอน ขอเพิ่มรายวิชาหรือขอยกเลิกรายวิชา

  1. การขอถอนหรือขอเพิ่มรายวิชาต้องได้รับการเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาและหัวหน้าสาขาวิชา ทั้งนี้ต้องไม่ขัดกับจำนวนหน่วยกิตต่อภาคการศึกษาตามที่กำหนดไว้
  2. การขอถอนรายวิชาโดยไม่ติดสัญลักษณ์ “W” หรือขอเพิ่มรายวิชาต้องกระทำภายใน2 สัปดาห์แรกของภาคการศึกษาปกติหรือภายในสัปดาห์แรกของภาคฤดูร้อน และนิสิตจะได้รับการโอนเงินค่าหน่วยกิตของรายวิชาที่เพิกถอนไปใช้ในรายวิชาที่ขอเพิ่มหรือใช้ในภาคการศึกษาถัดไปที่ลงทะเบียนเรียนได้เต็มจำนวน
  3. การขอยกเลิกรายวิชาโดยติดสัญลักษณ์ “W” เป็นการขอยกเลิกรายวิชาหลัง 2 สัปดาห์แรกของภาคการศึกษาปกติหรือหลังสัปดาห์แรกของภาคฤดูร้อน และไม่เกิน 12 สัปดาห์ นับจากวันเปิดภาคการศึกษาปกติและไม่เกิน 6 สัปดาห์ นับจากวันเปิดภาคฤดูร้อน โดยนิสิตไม่มีสิทธิ์ขอคืนเงินหรือโอนค่าหน่วยกิต
  4. นิสิตที่ถูกสั่งพักการเรียน หรือได้รับการอนุมัติให้ลาพักการศึกษาตามระเบียบของมหาวิทยาลัยหลังการลงทะเบียนวิชาเรียนแล้วให้เพิกถอนรายวิชาและได้รับสัญลักษณ์ “W” ในภาคการศึกษานั้น

การลงทะเบียนเรียนซ้ำ

  1. นิสิตที่ได้ระดับคะแนน F ในวิชาบังคับจะต้องลงทะเบียนเรียนวิชานั้นซ้ำอีกจนกว่าจะสอบได้
  2. นิสิตที่ได้ระดับคะแนน F ในวิชาเลือกจะลงทะเบียนเรียนวิชานั้นซ้ำอีกหรือเลือกลงทะเบียนเรียนวิชาอื่นแทนได้
  3. นิสิตสามารถลงทะเบียนเรียนรายวิชาที่ได้ระดับคะแนนตั้งแต่ D+ ลงมาซ้ำได้ในกรณีที่ต้องการเพิ่มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม
  4. การลงทะเบียนเรียนซ้ำให้นับหน่วยกิตสะสมเพียงครั้งเดียวและให้นำผลการประเมินที่ดีที่สุดมาคำนวณค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม

ค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมการศึกษา

นิสิตต้องชำระค่าเล่าเรียน ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมการศึกษาเมื่อมีการลงทะเบียนรายวิชา ค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมการศึกษาประเภทต่าง ๆที่ต้องชำระให้เป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัย

การวัดผลและการประเมินผลการศึกษา

การมีสิทธิ์เข้าสอบปลายภาค

นิสิตต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมดจึงจะมีสิทธิ์เข้าสอบปลายภาค หากนิสิตมีเวลาเรียนน้อยกว่าร้อยละ 80 แต่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ให้ยื่นคำร้องขอสอบผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อให้มหาวิทยาลัยพิจารณา

การประเมินผลการศึกษา

การประเมินผลการศึกษาในรายวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตรเมื่อสิ้นสุดการศึกษาในแต่ละภาค โดยผลการประเมินแบ่งเป็น 2 ระบบ ดังนี้

 

1. ระบบค่าระดับคะแนน แบ่งเป็น 8 ระดับ ดังนี้

อักษรระดับคะแนน ความหมาย ค่าระดับคะแนน
A ดีเยี่ยม (Excellent) 4.0
B+ ดีมาก (Very Good) 3.5
B ดี (Good) 3.0
C+ ดีพอใช้ (Fairly Good) 2.5
C พอใช้ (Fair) 2.0
D+ ค่อนข้างอ่อน (Fairly Poor) 1.5
D อ่อน (Poor) 1.0
F ตก (Fail) 0

 

2. ระบบไม่มีค่าระดับคะแนน กำหนดสัญลักษณ์การประเมินผล ดังนี้

สัญลักษณ์ ความหมาย
I การประเมินผลยังไม่สมบูรณ์ (Incomplete)
S ผลการเรียนเป็นที่พอใจ (Satisfactory)
U ผลการเรียนไม่เป็นที่พอใจ (Unsatisfactory)
W การยกเลิกรายวิชาโดยได้รับอนุมัติ (Withdrawal)
AU การร่วมฟังการบรรยายโดยไม่นับหน่วยกิต (Audit)
T การเทียบโอนรายวิชา (Transfer)
IP การศึกษายังไม่สิ้นสุด (In Progress)
CS การเทียบโอนหน่วยกิตจากการทดสอบมาตรฐาน(credits from standardized tests)
CE การเทียบโอนหน่วยกิตจากการทดสอบที่ไม่ใช่การทดสอบมาตรฐาน(credits from exam)
CP การเทียบโอนหน่วยกิตโดยการประเมินประสบการณ์การทำงานผลการปฏิบัติงาน และจากการเสนอแฟ้มสะสมงาน(credits from portfolio)
CT การเทียบโอนจากการประเมินการศึกษาหรือการฝึกอบรมที่จัดโดยหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่สถาบันอุดมศึกษา และ การเทียบโอนจากการฝึกอบรมที่จัดโดยสถาบันอุดมศึกษาให้บันทึก “CT” (credits from training)
T การเทียบโอนหน่วยกิตจากระบบการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัย(transfer by grading)

3. การให้ระดับคะแนนตัวอักษร A, B+, B, C+, C, D+, D และ F กระทำได้ในกรณีที่เป็นรายวิชาที่นิสิตเข้าสอบ ทำข้อสอบ และหรือมีคะแนนผลการสอบที่สามารถประเมินได้เป็นลำดับขั้นตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

4. นิสิตที่มีผลการศึกษาในระดับ D ขึ้นไปหรือได้ S ถือว่าสอบได้ในรายวิชานั้นยกเว้นรายวิชาที่กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในหลักสูตร

5. การให้ F ให้กระทำได้ในกรณีดังต่อไปนี้

5.1 นิสิตขาดสอบประจำภาคการศึกษาโดยไม่ได้รับอนุมัติให้เข้าสอบ
5.2 นิสิตที่ร่วมกิจกรรมการเรียนไม่ครบตามที่กำหนดไว้
5.3 นิสิตทุจริตในการสอบ
5.4 นิสิตที่ได้รับคะแนน I แต่มิได้ดำเนินการขอประเมินผลเพื่อแก้ระดับคะแนน I ให้เสร็จสิ้นภายใน 6 สัปดาห์แรกของภาคการศึกษาถัดไปที่นิสิตมีสิทธิ์ลงทะเบียน
5.5 นิสิตเข้าสอบและสอบตกหรือเข้าสอบแต่ไม่ทำข้อสอบ

6. การให้ I ในรายวิชาใดให้กระทำได้ในกรณีที่อาจารย์ผู้สอนเห็นสมควรให้รอผลการศึกษาเพราะนิสิตยังปฏิบัติงานซึ่งเป็นส่วนประกอบการศึกษารายวิชานั้นยังไม่สมบูรณ์ นิสิตที่ได้รับคะแนน I จะต้องดำเนินการขอรับการประเมินผลเพื่อเปลี่ยนระดับ I ให้เสร็จสิ้นภายใน 6 สัปดาห์แรกของภาคการศึกษาถัดไปที่นิสิตมีสิทธิ์ลงทะเบียนเรียน หากพ้นกำหนดดังกล่าวมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนระดับคะแนน I เป็น F โดยอัตโนมัติ

7. การให้สัญลักษณ์ S จะกระทำได้ในรายวิชาที่หลักสูตรกำหนดไว้ว่าให้ประเมินผลเป็นระบบไม่มีค่าระดับคะแนน หรือใช้ในรายวิชาที่หลักสูตรหรือมหาวิทยาลัยกำหนดให้เรียนเพิ่ม โดยที่ผลการเรียนในรายวิชานั้นต้องผ่านเกณฑ์การประเมิน

8. การให้สัญลักษณ์ U ในรายวิชาใด กระทำได้ตามที่กำหนดไว้ แต่ผลการเรียนในรายวิชานั้นไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน

9. การให้ AU ในรายวิชาใดให้กระทำได้ในกรณีที่นิสิตได้รับอนุมัติให้ลงทะเบียนเพื่อร่วมฟังโดยไม่นั่บหน่วยกิต และมีวลาเรียนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมด ถ้าหากไม่เป็นไปตามนั้นจะไม่บันทึกรายวิชานั้นลงในใบแสดงผลการศึกษา

10. การให้สัญลักษณ์ IP ในรายวิชาใด กระทำได้เฉพาะรายวิชาที่มีผลการเรียนหรือปฏิบัติงานต่อเนื่องกันมากกว่า 1 ภาคการศึกษาและหรือการศึกษารายวิชานั้นยังไม่สิ้นสุด สัญลักษณ์ IP จะถูกเปลี่ยนเมื่อการเรียนหรือการปฏิบัติงานในรายวิชานั้นสิ้นสุดและมีการประเมินผลการศึกษาเป็นไปตามที่กำหนดไว้

การนับหน่วยกิตและการคำนวณหาค่าระดับคะแนนเฉลี่ยและระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม

1. การนับหน่วยกิตสะสม เพื่อให้ครบตามจำนวนที่กำหนดในหลักสูตร ให้นับเฉพาะหน่วยกิตของรายวิชาที่สอบได้และได้รับโอนมา
2. การนับจำนวนหน่วยกิตเพื่อใช้ในการคำนวณหาค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม ให้นับจากรายวิชาที่มีการประเมินผลการศึกษาที่มีค่าระดับคะแนน
3. ค่าระดับคะแนนเฉลี่ยประจำภาคการศึกษา และค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมให้คำนวณเป็นเลขทศนิยม 2 ตำแหน่งไม่ปัดเศษ สำหรับรายวิชาที่ยังมีผลการศึกษาเป็น “I” ไม่นำหน่วยกิตมารวมเป็นตัวหารเฉลี่ยในภาคการศึกษานั้น
4. กรณีโอนรายวิชาที่เคยเรียนในมหาวิทยาลัย ให้คำนวณค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมจากรายวิชาทั้งหมดที่ได้รับโอน และรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียนภายหลังการเทียบโอน
5. กรณีที่นิสิตลงทะเบียนเรียนซ้ำในรายวิชาใดให้นับจำนวนหน่วยกิตสะสมจากจำนวนหน่วยกิตที่ลงทะเบียนเรียนเพียงครั้งเดียว และให้นำผลการประเมินที่ดีที่สุดมาคำนวณระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม
6. กรณีการโอนรายวิชาจากสถาบันอุดมศึกษาอื่น ให้คำนวณค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมเฉพาะผลการศึกษาตามหลักสูตรสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยเท่านั้น

สถานภาพของนิสิต การรักษาสถานภาพ และการพ้นสภาพนิสิต

สถานภาพนิสิต

1. การจำแนกสถานภาพนิสิตกระทำเมื่อสิ้นภาคการศึกษาปกติ เว้นแต่นิสิตที่เข้าศึกษาเป็นภาคการศึกษาแรกให้จำแนกสถานภาพนิสิตเมื่อสิ้นภาคการศึกษาปกติที่สอง สถานภาพนิสิตแบ่งเป็น

1.1 นิสิตปกติ ได้แก่ นิสิตที่สอบได้คะแนนเฉลี่ยสะสม (GPAX) ไม่ต่ำกว่า 2.00 จากระบบ 4 ระดับคะแนนหรือเทียบเท่า
1.2 นิสิตรอพินิจ (Probation) ได้แก่ นิสิตที่สอบได้คะแนนเฉลี่ยสะสม (GPAX) ต่ำกว่า 1.75 ตั้งแต่ภาคการศึกษาปกติที่ 2 เป็นต้นไป
1.3 ฐานะชั้นปีของนิสิต จะกำหนดเมื่อสิ้นสุดแต่ละปีการศึกษาโดยเทียบจากจำนวนหน่วยกิตที่สอบได้ตามอัตราส่วนของหน่วยกิตของหลักสูตรสาขาวิชานั้น

การรักษาสถานภาพ

1. นิสิตที่ลงทะเบียนรายวิชาครบตามที่กำหนดในหลักสูตร แต่ยังไม่สำเร็จการศึกษาต้องลงทะเบียนชำระค่าบำรุงการศึกษาและค่าธรรมเนียมการศึกษาอื่น ๆ ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดใน ภาคการศึกษาที่รักษาสถานภาพจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา
2. การลงทะเบียนเพื่อรักษาสถานภาพนิสิตให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนสอบปลายภาค

การพ้นสภาพการเป็นนิสิต

นิสิตจะพ้นสภาพการเป็นนิสิตในกรณีดังต่อไปนี้
1. สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร
2. มีระยะเวลาศึกษาเกินกว่าระยะเวลาการศึกษาตามที่กำหนดไว้
3. ขาดคุณสมบัติในการเข้าศึกษาในหลักสูตรที่กำลังศึกษา
4. ขาดการลงทะเบียน และลาพักการศึกษาเป็นเวลาสองภาคการศึกษาปกติติดต่อกัน เว้นแต่จะได้รับอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ
5. ใช้เอกสารปลอมในการสมัครเข้าเป็นนิสิต
6. ต้องรับโทษจำคุกยกเว้นความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
7. มหาวิทยาลัยสั่งให้พ้นสภาพนิสิตด้วยเหตุกระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
8. ไม่ชำระเงินเพื่อรักษาสถานภาพนิสิต
9. ลาออก
10. เสียชีวิต

การขอคืนสภาพการเป็นนิสิต

การขอคืนสภาพการเป็นนิสิต ผู้ที่พ้นสภาพการเป็นนิสิตโดยการลาออกหรือถูกจำหน่ายโดยไม่ได้ติดต่อกับมหาวิทยาลัย หรือถูกสั่งพัก ประสงค์จะกลับเข้าศึกษาต่อสามารถยื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัยเพื่อขอคืนสภาพการเป็นนิสิตได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศของมหาวิทยาลัย

การลาพักการศึกษา

แนวปฏิบัติการลาพักการศึกษา
1. นิสิตที่มีความจำเป็นต้องลาพักการศึกษา ต้องยื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัยภายในสัปดาห์ที่ 8 ของภาคการศึกษาปกติและภายใน 4 สัปดาห์สำหรับภาคฤดูร้อน โดยผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาและได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัย
2. การลาพักการศึกษาให้อนุมัติได้ครั้งละไม่เกิน 1 ภาคการศึกษา แต่ไม่เกิน 2 ภาคการศึกษาปกติติดต่อกัน ถ้านิสิตยังมีความจำเป็นต้องขอลาพักการเรียนต่อไปอีกให้ยื่นคำร้องใหม่
3. ให้นับระยะเวลาที่ขอลาพักการศึกษา รวมอยู่ในระยะเวลาการศึกษาตามที่กำหนดไว้ ยกเว้นกรณีลาพักการศึกษาเนื่องจากถูกเกณฑ์หรือระดมเข้ารับราชการทหารกองประจำการ
4. ในระหว่างการลาพักการศึกษา นิสิตต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมอื่นที่มหาวิทยาลัยกำหนดเพื่อรักษาสถานภาพนิสิตมิฉะนั้นจะพ้นสภาพนิสิต
5. หลังจากการลาพักการศึกษา หากนิสิตจะกลับเข้าเรียน ต้องยื่นคำร้องขอกลับเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ก่อนวันเปิดภาคการศึกษาไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์ โดยผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาและได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัย

การย้ายสาขาวิชา

1. นิสิตที่ขอย้ายสาขาวิชา จะต้องไม่เป็นผู้ที่พ้นสภาพนิสิต
2. การย้ายสาขาวิชา ให้ถือเกณฑ์ปฏิบัติดังนี้

2.1 คุณสมบัติของนิสิตที่ขอย้ายสาขาวิชา

2.1.1 เคยลงทะเบียนเรียนในสาขาวิชาเดิมมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ภาคการศึกษา
2.1.2 คุณวุฒิทางการศึกษาและคุณสมบัติเฉพาะตรงตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรสาขาวิชาที่ขอย้ายเข้า

2.2 นิสิตต้องยื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันสิ้นภาคการศึกษา
2.3 นิสิตที่ได้รับอนุมัติให้ย้ายสาขาวิชาสามารถขอเทียบรายวิชาและโอนหน่วยกิตได้ในภาคการศึกษาแรกของสาขาวิชาที่ขอย้าย
2.4 การอนุมัติการย้ายสาขาวิชา การย้ายสาขาวิชาต้องได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาหัวหน้าสาขาวิชาที่เรียนอยู่เดิมและหัวหน้าสาขาวิชาที่ขอย้าย และได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัย ผลการย้ายสาขาวิชาจะสมบูรณ์เมื่อนิสิตได้ชำระค่าธรรมเนียมในการโอนเรียบร้อย
2.5 เมื่อนิสิตได้รับอนุมัติให้ย้ายสาขาวิชาแล้ว จะจะต้องศึกษาให้ครบหลักสูตรใหม่ภายในระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามหลักสูตรของสาขาวิชาที่ขอย้ายโอน

การเทียบรายวิชา โอนหน่วยกิต และการเข้าศึกษาปริญญาที่สอง

1. การเทียบรายวิชาเรียนและโอนหน่วยกิตของนิสิตในมหาวิทยาลัยหรือจากสถาบันอื่นที่ประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ ว่าด้วย การเทียบโอนผลการเรียน พ.ศ.2559 หรือที่แก้ไขเพิ่มเติม และข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ ว่าด้วย หลักเกณฑ์การเทียบโอนความรู้และ
ประสบการณ์การทำงาน พ.ศ. 2561 หรือที่แก้ไขเพิ่มเติม

2. การเข้าศึกษาปริญญาที่สองให้เป็นไปตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้

2.1 ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติตามตามที่กำหนดไว้
2.2 สาขาวิชาที่สมัครต้องเป็นสาขาวิชาหรือปริญญาที่มีชื่อไม่เหมือนกับสาขาวิชาหรือปริญญาที่เคยได้รับ
2.3 ได้รับการยกเว้นการเรียนรายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปของหลักสูตรปริญญาที่สอง ในกรณีที่มหาวิทยาลัยพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ขอศึกษาปริญญาที่สองยังขาดความรู้ในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปก็อาจกำหนดให้ศึกษาเพิ่มเติมวิชาเหล่านั้นได้โดยนับเป็นหน่วยกิตสะสม หรือไม่นับหน่วยกิตสะสมได้
2.4 ต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชาเพิ่มเติมอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนหน่วยกิต รวมตลอดหลักสูตรและต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชาบังคับของสาขาวิชาให้ครบตามหลักสูตรกำหนด
2.5 ในกรณีที่คณะกรรมการผู้รับผิดชอบหลักสูตรที่ผู้สมัครเข้าศึกษาปริญญาที่สองพิจารณาเห็นว่าผู้ขอศึกษาปริญญาที่สองยังขาดความรู้เบื้องต้นบางวิชาก็อาจกำหนดให้ศึกษาเพิ่มเติมวิชาเหล่านั้นได้
2.6 รายวิชาใดที่ศึกษามาแล้วทั้งหมดในปริญญาเดิมจะได้รับการพิจารณาเทียบโอน หน่วยกิตเพื่อใช้ในแผนการศึกษาของสาขาวิชาใหม่ รายวิชาที่จะเทียบโอนหน่วยกิตสะสมได้ จะต้องมีเนื้อหาสาระครอบคลุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของรายวิชาที่ขอเทียบโอนและมีผลการเรียนเทียบได้ไม่ต่ำกว่า ระดับ C หรือ 2.00 หรือเทียบเท่า
2.7 ผู้ขอศึกษาปริญญาที่สอง มีระยะเวลาในการศึกษาปริญญาที่สองไม่เกิน 5 ปี

การศึกษาข้ามสถาบัน
นิสิตที่ประสงค์จะศึกษาข้ามสถาบันให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  1. เป็นนิสิตที่ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาสุดท้าย และมหาวิทยาลัยไม่ได้เปิดสอนในรายวิชาที่นิสิตประสงค์จะลงทะเบียนเรียนหรือเป็นนิสิตแลกเปลี่ยนตามโครงการแลกเปลี่ยนนิสิตของมหาวิทยาลัย
  2. กรณีนิสิตของมหาวิทยาลัยประสงค์จะศึกษาข้ามสถาบัน จะต้องเป็นสถาบัน อุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบ
  3. รายวิชาที่นิสิต ประสงค์จะศึกษาข้ามสถาบันจะต้องมีเนื้อหารายละเอียดวิชาเทียบเคียงได้หรือมีเนื้อหาสาระครอบคลุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของรายวิชาของมหาวิทยาลัย
  4. นิสิตที่ได้รับอนุมัติให้ลงทะเบียนเรียนเพื่อศึกษาข้ามสถาบัน จะต้องปฏิบัติตามระเบียบของสถาบันที่นิสิตลงทะเบียนเรียน และติดตามให้สถาบันที่นิสิตลงทะเบียนเรียนส่งผลการศึกษาโดยตรงต่อทางมหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

การสำเร็จการศึกษา
ระยะเวลาในการสำเร็จการศึกษา จะสำเร็จการศึกษาได้ ดังนี้

  1. หลักสูตรปริญญาตรี (4 ปี) สำเร็จการศึกษาได้ไม่ก่อน 6 ภาคการศึกษาปกติ สำหรับการลงทะเบียนเรียนเต็มเวลา และไม่ก่อน 14 ภาคการศึกษาปกติ สำหรับการลงทะเบียนเรียนไม่เต็มเวลา
  2. หลักสูตรปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) สำเร็จการศึกษาได้ไม่ก่อน 4 ภาคการศึกษาปกติสำหรับการลงทะเบียนเรียนเต็มเวลา และไม่ก่อน 8 ภาคการศึกษาปกติ สำหรับการลงทะเบียนเรียนไม่เต็มเวลา

การได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม

1. ปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
นิสิตที่มีสิทธิ์ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1.1 เป็นนิสิตหลักสูตรปริญญาตรี ที่สอบได้หน่วยกิตครบตามหลักสูตรภายในระยะเวลาของการจัดการศึกษาภาคปกติ ทั้งนี้ไม่นับภาคการศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ลาพักการศึกษา
1.2 สอบได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ 3.50 ขึ้นไป และไม่มีรายวิชาใดได้รับสัญลักษณ์ D, D+, W หรือ F
1.3 ไม่เคยลงทะเบียนเรียนซ้ำในรายวิชาใดหรือเทียบโอนรายวิชาของมหาวิทยาลัย
1.4 ไม่เคยเทียบโอนรายวิชาจากสถาบันการศึกษาอื่น
1.5 ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย

2. ปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับสอง
นิสิตที่มีสิทธิ์ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับสอง จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

2.1 เป็นนิสิตหลักสูตรปริญญาตรีที่สอบได้หน่วยกิตครบตามหลักสูตรภายในระยะเวลาของการจัดการศึกษาภาคปกติ ทั้งนี้ไม่นับภาคการศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ลาพักการศึกษา
2.2 สอบได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม ตั้งแต่ 3.25 ขึ้นไป
2.3 ไม่เคยสอบตก (ค่าระดับคะแนนเป็น F) หรือลงทะเบียนเรียนซ้ำในรายวิชาใดหรือเทียบโอนรายวิชาของมหาวิทยาลัย
2.4 ไม่เคยเทียบโอนรายวิชาจากสถาบันการศึกษาอื่น
2.5 ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย

3. การให้เกียรติบัตรประกาศเกียรติคุณผลการเรียนดีเด่น
นิสิตหลักสูตร 4 ปีเทียบโอน ที่มีสิทธิ์ได้รับเกียรติบัตรประกาศเกียรติคุณผลการเรียนดีเด่นจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

3.1 ต้องสอบได้หน่วยกิตครบตามหลักสูตรภายในระยะเวลาของการจัดการศึกษาภาคปกติ ทั้งนี้ไม่นับภาคการศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ลาพักการศึกษา
3.2 สอบได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ 3.50 ขึ้นไป
3.3 ไม่เคยสอบตกหรือลงทะเบียนเรียนซ้ำในรายวิชาใดของมหาวิทยาลัย
3.4 ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย

4. การให้อนุปริญญา
นิสิตที่จะยื่นคำร้องขอรับอนุปริญญาได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติดังนี้

4.1 เป็นนิสิตหลักสูตรปริญญาตรี
4.2 เป็นผู้ที่สอบผ่านได้ครบทุกรายวิชาตามโครงสร้างหลักสูตรในระดับปริญญาตรีและได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรต่ำกว่าเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแต่ไม่ต่ำกว่า 1.75

ระบบการจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา

มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาโดยใช้ระบบทวิภาค โดย 1 ปีการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษาปกติ 1 ภาค ภาคการศึกษาปกติมีระยะเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์ มหาวิทยาลัยเปิดการศึกษาภาคฤดูร้อนกำหนดระยะเวลาและจำนวนหน่วยกิต โดยมีสัดส่วนเทียบเคียงกันได้กับการศึกษาภาคปกติ

มหาวิทยาลัยอาจจัดการศึกษาระบบอื่น โดยกำหนดรายละเอียดการเทียบเคียงหน่วยกิตกับระบบทวิภาคไว้ในหลักสูตรของสาขาวิชาต่าง ๆ

 

การคิดหน่วยกิต

  1. รายวิชาภาคทฤษฎี ที่ใช้เวลาบรรยายหรืออภิปรายปัญหาไม่น้อยกว่า 15 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต ระบบทวิภาค
  2. รายวิชาภาคปฏิบัติ ที่ใช้เวลาฝึกหรือทดลองไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต ระบบทวิภาค
  3. การฝึกงานหรือการฝึกภาคสนาม ที่ใช้เวลาฝึกไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต ระบบทวิภาค
  4. การทำโครงงานหรือกิจกรรมการเรียนอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย ที่ใช้เวลาทำโครงงานหรือกิจกรรมนั้นไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติ ให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตระบบทวิภาค
  5. การค้นคว้าอิสระ ที่ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตระบบทวิภาค
  6. วิทยานิพนธ์ ที่ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตระบบทวิภาค

 

คุณสมบัติการเข้าเป็นนิสิต และการขึ้นทะเบียนนิสิต

ข้อ 1 คุณวุฒิของผู้เข้าศึกษา

1.1 ประกาศนียบัตรบัณฑิต จะต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

1.2 ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง จะต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตหรือปริญญาโท หรือเทียบเท่า

1.3 ปริญญาโท จะต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

1.4 ปริญญาเอก จะต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าที่มีผลการเรียนดีมาก หรือปริญญาโทหรือเทียบเท่า และมีผลการสอบภาษาอังกฤษได้ตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนด

 

ข้อ 2 คุณสมบัติของผู้สมัครเข้าเป็นนิสิต

2.1 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย สามารถปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัยของสังคมและของมหาวิทยาลัยรวมถึงเป็นผู้ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสียร้ายแรง

2.2 ไม่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาหรือโรคติดต่อร้ายแรง

2.3 ไม่เคยต้องโทษในคดีอาญา เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และ/หรือ

2.4 มีคุณสมบัติอื่นตามที่หลักสูตรสาขาวิชาที่สมัครเข้าศึกษากำหนดสำหรับผู้สมัครที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่กำหนดให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการบัณฑิตศึกษา

ข้อ 3 การรับเข้าศึกษา

3.1 มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตามข้อ 11 และ 12 เข้า เป็นนิสิตโดยมีการทดสอบความรู้ อาจเป็นการสอบข้อเขียน การสอบสัมภาษณ์ หรือวิธีอื่นใดตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

3.2 ในกรณีที่ผู้สมัครกำลังรอผลการศึกษาระดับปริญญาขั้นใดขั้นหนึ่งอยู่ การรับเข้าศึกษาจะมีผลสมบูรณ์ เมื่อผู้สมัครได้แสดงหลักฐานว่าสำเร็จการศึกษาแล้วก่อนวันรายงานตัวเป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยตามวัน เวลาที่กำหนด

ข้อ 4 การขึ้นทะเบียนนิสิต

4.1 ผู้ที่สมัครเข้าเป็นนิสิต จะมีสภาพเป็นนิสิตต่อเมื่อได้ขึ้นทะเบียนนิสิตพร้อมทั้งชำระค่าหน่วยกิต ค่าบำรุง ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามวัน เวลาที่กำหนด

4.2 ผู้ที่ได้รับการพิจารณาให้เข้าศึกษาตามประกาศของมหาวิทยาลัย จะต้องไปรายงานตัวเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นนิสิตด้วยตนเองตามวันและเวลาที่กำหนด ผู้ที่ไม่อาจขึ้นทะเบียนเป็นนิสิตตามวันและเวลาที่กำหนดจะต้องแจ้งให้มหาวิทยาลัยทราบภายใน 15 วัน มิฉะนั้นจะถือว่าสละสิทธิ์

4.3 ผู้ที่สมัครเข้าศึกษาจะขึ้นทะเบียนนิสิตในหลักสูตรเกินกว่าหนึ่งหลักสูตรในปีการศึกษาเดียวกันไม่ได้

ข้อ 5 ประเภทนิสิต

5.1 นิสิตสามัญ คือ บุคคลที่มหาวิทยาลัยรับเข้าเป็นนิสิตตามข้อ 13.1

5.2 นิสิตพิเศษ คือ ผู้ที่ประสงค์ขอเข้าศึกษาในรายวิชาที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัย โดยไม่ขอรับปริญญาบัตร

5.3 นิสิตทดลองเรียน คือ ผู้ที่ไม่ผ่านบางเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด มหาวิทยาลัยอาจพิจารณาอนุมัติให้เข้าศึกษา โดยต้องทำคะแนนในภาคการศึกษาแรกให้ได้ 3.00 จึงจะได้รับการปรับสถานะเป็นนิสิตสามัญ

 

ข้อ 6 การลงทะเบียนเรียน และระยะเวลาการศึกษา ให้ลงทะเบียนเรียนได้ไม่เกิน 15 หน่วยกิต ในแต่ละภาคการศึกษาปกติ และลงทะเบียนเรียนภาคฤดูร้อนได้ไม่เกิน 9 หน่วยกิต

6.1 ประกาศนียบัตรบัณฑิตและประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ให้ใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 3 ปีการศึกษา

6.2 ปริญญาโท ให้ใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 5 ปีการศึกษา

6.3 ปริญญาเอก ผู้ที่สำเร็จปริญญาตรีแล้วเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกให้ใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 8 ปีการศึกษา ส่วนผู้ที่สำเร็จปริญญาโทแล้วเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกให้ใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 6 ปีการศึกษา

6.4 การลงทะเบียนเรียนสำหรับผู้เข้าศึกษาแบบไม่เต็มเวลา มหาวิทยาลัยกำหนดจำนวนหน่วยกิตที่ให้ลงทะเบียนเรียนได้ในแต่ละภาคการศึกษาปกติ โดยเทียบเคียงกับจำนวนหน่วยกิต ที่กำหนดข้างต้นในสัดส่วนที่เหมาะสม

6.5 หากมีเหตุผลและความจำเป็นพิเศษ ในกรณีการลงทะเบียนเรียนที่มีจำนวนหน่วยกิต แตกต่างไปจากเกณฑ์ข้างต้นมหาวิทยาลัยจะดำเนินการโดยจะไม่กระทบกระเทือนต่อมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา

 

หลักสูตรการศึกษา โครงสร้างหลักสูตร และระยะเวลาศึกษา

  1. หลักสูตรการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา

1.1 หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตและประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง มุ่งให้ความสัมพันธ์สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาของชาติ ปรัชญาของการอุดมศึกษา ปรัชญาของมหาวิทยาลัย และมาตรฐานวิชาการและวิชาชีพ เน้นการพัฒนานักวิชาการและนักวิชาชีพให้มีความชำนาญในสาขาวิชาเฉพาะ เพื่อให้ความรู้ความเชี่ยวชาญ สามารถปฏิบัติงานได้ได้ดียิ่งขึ้นโดยเป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีลักษณะเบ็ดเสร็จในตัวเอง

1.2 หลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก มุ่งให้ความสัมพันธ์สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาของชาติ ปรัชญาของการอุดมศึกษาปรัชญาของมหาวิทยาลัยและมาตรฐานวิชาการ และวิชาชีพที่เป็นสากล เน้นการพัฒนานักวิชาการและนักวิชาชีพ ที่มีความรู้ความสามารถระดับสูง ในสาขาวิชาต่าง ๆ โดยกระบวนการวิจัยเพื่อให้สามารถบุกเบิกแสวงหาความรู้ใหม่ได้อย่างมีอิสระ รวมทั้ง มีความสามารถในการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ เชื่อมโยงและบูรณาการศาสตร์ที่ตนเชี่ยวชาญกับศาสตร์อื่นได้อย่างต่อเนื่อง มีคุณธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพ ทั้งนี้ในระดับปริญญาโท มุ่งให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการสร้างและประยุกต์ใช้ความรู้ใหม่เพื่อการพัฒนางานและสังคม ในขณะที่ระดับปริญญาเอก มุ่งให้มีความสามารถในการค้นคว้าวิจัยเพื่อสรรค์สร้างองค์ความรู้ใหม่หรือนวัตกรรม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางาน สังคมและประเทศ

  1. หลักเกณฑ์การใช้รหัสวิชาในหลักสูตร

ให้เป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดในแต่ละหลักสูตรโดยให้มีระบบและหลักการใช้รหัสวิชาในทุกหลักสูตรที่เหมือนกันและเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา

  1. โครงสร้างหลักสูตร

3.1 หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตและหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ให้มีจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต

3.2 หลักสูตรปริญญาโท ให้มีจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต โดยแบ่งการศึกษาเป็น 2 แผน คือ

-   แผน ก เป็นแผนการศึกษาที่เน้นการวิจัยโดยมีการทำวิทยานิพนธ์ ดังนี้

แบบ ก1 ทำเฉพาะวิทยานิพนธ์ซึ่งมีค่าเทียบได้ไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิตมหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้เรียนรายวิชาเพิ่มเติมหรือทำกิจกรรมทางวิชาการอื่นเพิ่มขึ้นก็ได้โดยไม่นับหน่วยกิตแต่จะต้องมีผลสัมฤทธิ์ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

แบบ ก2 ทำวิทยานิพนธ์ซึ่งมีค่าเทียบได้ไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต และศึกษางานรายวิชาอีกไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต

-   แผน ข เป็นแผนการศึกษาที่เน้นการศึกษางานรายวิชา โดยไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ แต่ต้องมีการค้นคว้าอิสระไม่น้อยกว่า 3 หน่วยกิต และไม่เกิน 6 หน่วยกิต

3.3 ปริญญาเอก แบ่งการศึกษาเป็น 2 แบบ โดยเน้นการวิจัยเพื่อพัฒนานักวิชาการ และนักวิชาชีพขั้นสูง คือ

-   แบบ 1 เป็นแผนการศึกษาที่เน้นการวิจัยโดยมีการทำวิทยานิพนธ์ที่ก่อให้เกิดความรู้ใหม่มหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้เรียนรายวิชาเพิ่มเติมหรือทำกิจกรรมทางวิชาการอื่นเพิ่มขึ้นก็ได้โดยไม่นับหน่วยกิต แต่จะต้องมีผลสัมฤทธิ์ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด ดังนี้

แบบ 1.1 ผู้เข้าศึกษาที่สำเร็จปริญญาโท จะต้องทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต

แบบ 1.2 ผู้เข้าศึกษาที่สำเร็จปริญญาตรี จะต้องทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 72 หน่วยกิต

ทั้งนี้ วิทยานิพนธ์ตามแบบ 1.1 และแบบ 1.2 จะต้องมีมาตรฐานและคุณภาพเดียวกัน

-   แบบ 2 เป็นแผนการศึกษาที่เน้นการวิจัยโดยมีการทำวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพสูง และก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพ และศึกษางานรายวิชาเพิ่มเติม ดังนี้

แบบ 2.1 ผู้เข้าศึกษาที่สำเร็จปริญญาโท จะต้องทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิตและศึกษางานรายวิชาอีกไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต

แบบ 2.2 ผู้เข้าศึกษาที่สำเร็จปริญญาตรี จะต้องทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิตและศึกษางานรายวิชาอีกไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต

ทั้งนี้ วิทยานิพนธ์ตามแบบ 2.1 และแบบ 2.2 จะต้องมีมาตรฐานและคุณภาพเดียวกัน

  1. การลงทะเบียนเรียน

4.1 การลงทะเบียนแต่ละภาคการศึกษาจะต้องได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาโดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ข้อกำหนดของหลักสูตรที่ศึกษา โดยมหาวิทยาลัยจะกำหนดวัน เวลา และวิธีการลงทะเบียนเรียนรายวิชาในแต่ภาคการศึกษา

4.2 นิสิตต้องรับผิดชอบการลงทะเบียนของตนเอง และการลงทะเบียนจะสมบูรณ์เมื่อนิสิตได้ชำระเงินค่าหน่วยกิต ค่าบำรุง ค่าธรรมเนียมการศึกษาและอื่น ๆ ภายในวัน เวลา ที่มหาวิทยาลัยกำหนด

4.3 จำนวนหน่วยกิตและรายวิชาที่ลงทะเบียน จะต้องเป็นไปตามแผนการเรียนที่กำหนด ทั้งนี้หากไม่เป็นไปตามแผนต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหลักสูตร

4.4 หากมีการปิดรายวิชาหรือกลุ่มเรียนใดที่มีนิสิตลงทะเบียนเรียนไปแล้ว นิสิตสามารถลงทะเบียนเรียนรายวิชาอื่นหรือกลุ่มเรียนอื่นทดแทน หรือขอเพิกถอนเพื่อโอนเงินค่าหน่วยกิตไปภาคการศึกษาถัดไปได้

4.5 ผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นนิสิตในภาคการศึกษาใด ต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชาในภาคการศึกษานั้นเป็นจำนวนหน่วยกิตไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด

4.6 นิสิตที่ไม่ได้ลงทะเบียนเรียนโดยสมบูรณ์ในภาคการศึกษาใดภายในกำหนดเวลาของมหาวิทยาลัยจะไม่มีสิทธิ์เรียนรายวิชานั้น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากผู้อำนวยการหลักสูตรและได้รับอนุมัติเป็นกรณีพิเศษจากอธิการบดีหรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมาย

  1. การขอถอนหรือขอเพิ่มรายวิชา

5.1 นิสิตต้องยื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัยเพื่อขอถอนหรือขอเพิ่มรายวิชา ทั้งนี้ ต้องได้รับการเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ประจำวิชาที่สอนรายวิชานั้นหรือผู้อำนวยการหลักสูตร และได้รับอนุมัติจากอธิการบดีหรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมาย

5.2 การขอถอนโดยไม่ติดสัญลักษณ์ “W” หรือขอเพิ่มรายวิชาต้องกระทำภายใน 2 สัปดาห์แรกของภาคการศึกษาปกติหรือภายในสัปดาห์แรกของภาคการศึกษาฤดูร้อน

5.3 การขอถอนรายวิชาติดสัญลักษณ์ “W” กระทำได้หลัง 2 สัปดาห์ และไม่เกิน 12 สัปดาห์ นับจากวันเปิดภาคการศึกษาปกติหรือหลัง 1 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 6 สัปดาห์ นับจากวันเปิดภาคการศึกษาฤดูร้อนโดยนิสิตไม่มีสิทธิ์ขอคืนหรือโอนค่าหน่วยกิต

 

การรักษาสถานภาพ การลาพักการศึกษา และการลาออก

  1. การลงทะเบียนเพื่อรักษาสถานภาพนิสิต

1.1 นิสิตที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาครบตามที่กำหนดในหลักสูตรแต่ยังไม่สำเร็จการศึกษา ต้องลงทะเบียนชำระ ค่าธรรมเนียมการศึกษาเพื่อรักษาสถานภาพ ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดทุกภาคการศึกษา เพื่อรักษาสถานภาพนิสิตจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา

1.2 การลงทะเบียนเพื่อรักษาสถานภาพนิสิต ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์ที่ 8 นับจากวันเปิดภาคการศึกษา

  1. การลาพักการเรียน

2.1 นิสิตที่มีความจำเป็นต้องลาพักการเรียน อาจยื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัย โดยผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาและ/หรือผู้อำนวยการหลักสูตรและได้รับอนุมัติจากอธิการบดีหรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมายภายในสัปดาห์ที่ 3 ของภาคเรียนที่ขอลาพัก ทั้งนี้ นิสิตได้ลงทะเบียนเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วอย่างน้อย 1 ภาคการศึกษา

2.2 การลาพักการเรียนให้อนุมัติได้ครั้งละไม่เกิน 1 ภาคการศึกษา ถ้านิสิตยังมีความจำเป็นต้องขอลาพักการเรียนต่อไปอีก ให้ยื่นคำร้องใหม่

2.3 ให้นับระยะเวลาที่ขอลาพักการเรียนรวมอยู่ในระยะเวลาการศึกษาด้วย

2.4 ในระหว่างการลาพักการเรียน นิสิตต้องชำระค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่มหาวิทยาลัยกำหนดเพื่อรักษาสถานภาพนิสิต

2.5 หลังการลาพักการเรียน หากนิสิตจะกลับเข้าเรียน ต้องยื่นคำร้องขอกลับเข้าเรียนต่อก่อนวันเปิดภาคการศึกษาไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์

  1. การลาออก

นิสิตที่ประสงค์จะลาออกจากการเป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยให้ยื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัย โดยผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาและ/หรือผู้อำนวยการหลักสูตร และได้รับอนุมัติจากอธิการบดีหรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมาย

การวัดประเมินผลการศึกษา

1. การมีสิทธิ์เข้าสอบ นิสิตต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมดจึงมีสิทธิ์เข้าสอบปลายภาค หากนิสิตมีเวลาเรียนน้อยกว่าร้อยละ 80 แต่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ให้ยื่นคำร้องขอสอบผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อให้ผู้ที่อธิการบดีมอบหมายพิจารณา

 

2. การวัดและประเมินผลการศึกษา อาจกระทำได้โดยการสอบหรือการทำรายงานจากการอ่าน การศึกษา การค้นคว้าหรือการเขียนรายงาน หรือการเข้าร่วมอภิปรายในชั้น หรือทุกอย่างที่กล่าวมาในระหว่างภาคการศึกษา

 

3. ระบบการให้คะแนนการเรียนรายวิชา

3.1 ให้มีการประเมินผลการศึกษาในรายวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตรเมื่อสิ้นสุดการศึกษาในแต่ละภาคโดยการประเมินแบ่งเป็น 2 ระบบดังนี้

 

อักษรที่มีค่าเป็นระดับคะแนนประกอบด้วยอักษรจำนวน 8 ค่าระดับ ดังนี้

อักษรระดับคะแนน

ความหมาย

ค่าระดับคะแนน

A ดีเยี่ยม (Excellent)

4.0

B+ ดีมาก (Very Good)

3.5

B ดี (Good)

3.0

C+ ดีพอใช้ (Fairly Good)

2.5

C พอใช้ (Fair)

2.0

D+ ค่อนข้างอ่อน (Fairly Poor)

1.5

D อ่อน (Poor)

1.0

F ตก (Fail)

0

ระบบที่ไม่มีค่าระดับคะแนน กำหนดสัญลักษณ์การประเมินผลดังนี้

สัญลักษณ์

ความหมาย

I

การประเมินผลยังไม่สมบูรณ์ (Incomplete)

S

ผลการเรียนเป็นที่พอใจ (Satisfactory)

U

ผลการเรียนไม่เป็นที่พอใจ (Unsatisfactory)

W

การยกเลิกรายวิชาโดยได้รับอนุมัติ (Withdrawal)

AU

การร่วมฟังการบรรยายโดยไม่นับหน่วยกิต (Audit)

IP

การศึกษายังไม่สิ้นสุด (In Progress)

CS

การเทียบโอนหน่วยกิตจากการทดสอบมาตรฐาน (credits from standardized tests)

CE

การเทียบโอนหน่วยกิตจากการทดสอบที่ไม่ใช่การทดสอบมาตรฐาน(credits from exam)

CP

การเทียบโอนหน่วยกิตโดยการประเมินประสบการณ์การทำงานผลการปฏิบัติงาน และจากการเสนอแฟ้มสะสมงาน(credits from portfolio)

CT

การเทียบโอนจากการประเมินการศึกษาหรือการฝึกอบรมที่จัดโดยหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่สถาบันอุดมศึกษา และ การเทียบโอนจากการฝึกอบรมที่จัดโดยสถาบันอุดมศึกษาให้บันทึก “CT” (credits from training)

T

การเทียบโอนหน่วยกิตจากระบบการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัย(transfer by grading)

3.2 การให้ระดับคะแนนอักษร A, B+, B, C+, C, D+, D และ F กระทำได้ในกรณีที่เป็นรายวิชาที่นิสิตเข้าสอบและ (มีสัญลักษณ์) หรือมีผลงานที่ประเมินได้เป็นลำดับขั้นตอนตามที่หลักสูตรกำหนด

3.3 การให้ I ในรายวิชาใดให้กระทำได้ในกรณีที่อาจารย์ผู้สอนเห็นสมควรให้รอผลการศึกษา เพราะนิสิตยังปฏิบัติงานซึ่งเป็นส่วนประกอบการศึกษารายวิชานั้นยังไม่สมบูรณ์ นิสิตที่ได้รับคะแนน I จะต้องดำเนินการขอรับการประเมินผลเพื่อเปลี่ยนระดับ I ให้เสร็จสิ้นภายในภาคการศึกษาถัดไปที่นิสิตมีสิทธิ์ลงทะเบียนเรียนหากพ้นกำหนดดังกล่าวมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนระดับคะแนน I เป็น F โดยอัตโนมัติ

3.4 การให้สัญลักษณ์ S จะกระทำได้ในรายวิชาปรับพื้นฐานหรือรายวิชาที่หลักสูตรกำหนดไว้ว่าให้ประเมินผลเป็นระดับคะแนนตัวอักษรโดยไม่เป็นลำดับขั้น หรือรายวิชานอกจากที่กำหนดไว้ในหลักสูตร และผลการเรียนในรายวิชานั้นเป็นที่พอใจของอาจารย์ผู้สอน
3.5 การให้สัญลักษณ์ U ในรายวิชาใด และผลการเรียนในรายวิชานั้นไม่เป็นที่พอใจของอาจารย์ผู้สอน

3.6 การให้ AU ในรายวิชาใดให้กระทำได้ในกรณีที่นิสิตได้อนุมัติให้ลงทะเบียนเพื่อร่วมฟังโดยไม่นับหน่วยกิต

3.7 การให้สัญลักษณ์ IP ในรายวิชาใด กระทำได้เฉพาะรายวิชาที่มีผลการเรียนหรือปฏิบัติงานต่อเนื่องกันมากกว่า 1 ภาคการศึกษาและ (มีสัญลักษณ์) หรือการศึกษารายวิชานั้นยังไม่สิ้นสุด สัญลักษณ์ IP จะถูกเปลี่ยนเมื่อการเรียนหรือการปฏิบัติงานในรายวิชานั้นสิ้นสุดและมีการประเมินผลการศึกษา

3.8 การให้ F ให้กระทำได้ในกรณีต่อไปนี้

(1)   นิสิตขาดสอบประจำภาคการศึกษา โดยไม่ได้รับอนุมัติ
(2)   นิสิตร่วมกิจกรรมการเรียนไม่ครบตามเกณฑ์
(3)   นิสิตทุจริตในการสอบ
(4)   นิสิตที่ได้ระดับคะแนน I แต่มิได้ดำเนินการขอประเมินผลเพื่อแก้ระดับคะแนน I ให้เสร็จสิ้นภายในภาคเรียนถัดไปที่นิสิตมีสิทธิ์ลงทะเบียน
(5)   นิสิตเข้าสอบและสอบตก

3.9 การให้ W ในรายวิชาใดให้กระทำได้ในกรณีต่อไปนี้

(1)   นิสิตได้รับอนุมัติให้ถอนการเรียนรายวิชานั้น
(2)   นิสิตได้รับอนุมัติให้ลาพักการเรียนหลังจากได้ลงทะเบียนเรียนแล้ว
(3)   นิสิตถูกสั่งพักการเรียนในภาคเรียนนั้น

3.10  กรณีนิสิตที่ขอเข้าร่วมเรียน ประสงค์ให้มหาวิทยาลัยวัดผล ให้ยื่นใบคำร้องทั่วไปเพื่อแจ้งความจำนงในการขอรับการวัดผลตั้งแต่ครั้งแรกที่ลงทะเบียนรายวิชานั้น
3.11  ในกรณีที่นิสิตลงทะเบียนเรียนรายวิชาที่ระบุไว้เป็นรายวิชาที่เทียบเท่ากันให้นับ หน่วยกิตสะสมเฉพาะรายวิชาหนึ่งรายวิชาใดเท่านั้น
3.12  ผลการประเมินวิทยานิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ ที่แบ่งหน่วยกิตลงทะเบียน และการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์เป็นดังนี้

ผลการประเมิน

ความหมาย

S

ผ่าน (Satisfactory)

U

ไม่ผ่าน (Unsatisfactory)

3.13  ผลการสอบวิทยานิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ และการประเมินวิทยานิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระทั้งฉบับ แสดงด้วยสัญลักษณ์ต่อไปนี้

ผลการประเมิน

ความหมาย

Excellent

ดีเยี่ยม

Good

ดี

Pass

ผ่าน

Failed

ไม่ผ่าน

4. การนับหน่วยกิตและการคำนวณหาค่าระดับคะแนนเฉลี่ยและระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม

4.1  การนับหน่วยกิตสะสมเพื่อให้ครบตามจำนวนที่กำหนดในหลักสูตรให้นับเฉพาะหน่วยกิตของรายวิชาที่สอบได้และได้รับโอนมา
4.2  การนับจำนวนหน่วยกิตเพื่อใช้ในการคำนวณหาค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมให้นับจากรายวิชาที่มีการประเมินผลการศึกษาที่มีค่าระดับคะแนน
4.3 ค่าระดับคะแนนเฉลี่ยประจำภาคเรียน และค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมให้คำนวณเป็นเลขทศนิยม 2 ตำแหน่งไม่ปัดเศษ สำหรับรายวิชาที่ยังมีผลการศึกษาเป็น “I” ไม่นำหน่วยกิตมารวมเป็นตัวหารเฉลี่ยในภาคเรียนนั้น

 

5. การเรียนเพิ่ม

กรณีที่นิสิตเรียนรายวิชาครบหลักสูตรแต่คะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ถึง 3.00 นิสิตต้องลงทะเบียนเรียนเพิ่มรายวิชาอื่น โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของอาจารย์ที่ปรึกษา

 

6. การทุจริตในการสอบ หรือการทำวิทยานิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ มหาวิทยาลัยมีอำนาจสั่งให้

6.1 ตกในรายวิชานั้น
6.2 ตกในรายวิชานั้น และพักการเรียนในภาคเรียนถัดไป หรือ
6.3 พ้นสภาพนิสิต

การจำแนกสถานภาพ และการพ้นสภาพนิสิต

  1. การจำแนกสถานภาพของนิสิต

1.1 นิสิตปกติ คือ นิสิตที่มีค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ 3.00 ขึ้นไป

1.2 นิสิตรอพินิจ คือ นิสิตที่มีค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 3.00

  1. การพ้นสภาพนิสิต

นิสิตจะต้องพ้นสภาพนิสิตในกรณีต่อไปนี้

2.1 ได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัยให้ลาออก หรือ
2.2 สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร หรือ
2.3 ถูกคัดชื่อออกจากมหาวิทยาลัยในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ไม่ลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนแรกที่ขึ้นทะเบียนเป็นนิสิต
(2) ไม่ชำระเงินเพื่อรักษาสภาพนิสิต
(3) ขาดคุณสมบัติการเข้าเป็นนิสิตอย่างใดอย่างหนึ่ง
(4) ไม่สามารถสำเร็จการศึกษาภายในระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนดไว้
(5) ประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง
(6) ตายหรือลาออก
(7) ลาพักเกิน 2 ภาคการศึกษา ติดต่อกันโดยไม่รับอนุมัติ
(8) มหาวิทยาลัยสั่งให้พ้นสภาพนิสิต
(9) ไม่รักษาสภาพการเป็นนิสิตโดยไม่มีเหตุผลสมควร

การสอบประมวลความรู้ การทำวิทยานิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ

  1. หลักสูตรปริญญาโท

1.1 นิสิตหลักสูตรปริญญาโทที่เลือกศึกษาแผน ข ต้องสอบประมวลความรู้ (Comprehensive examination) ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของสาขาวิชานั้น ๆ และต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด
1.2 การสอบประมวลความรู้ประกอบด้วย การสอบข้อเขียน และ/หรือการสอบปากเปล่า
1.3 นิสิตที่มีสิทธิ์สอบประมวลความรู้จะต้องศึกษาและสอบผ่านรายวิชาครบถ้วนตามหลักสูตรกำหนดไว้และได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00
1.4 ให้มหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบประมวลความรู้ ไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกิน 5 คน โดยการเสนอของผู้อำนวยการหลักสูตร และคณะกรรมการหลักสูตร
1.5 การสอบประมวลความรู้ข้อเขียน และ/หรือการสอบประมวลความรู้ปากเปล่าให้สอบได้ไม่เกิน 3 ครั้ง แต่ถ้ายังสอบไม่ผ่านให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการหลักสูตรของแต่ละหลักสูตรหรือคณะกรรมการบัณฑิตศึกษา

  1. หลักสูตรปริญญาเอก

2.1 การสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying examination) ประกอบด้วย การสอบข้อเขียน และ/หรือ การสอบปากเปล่า
2.2 นิสิตที่มีสิทธิ์สอบวัดคุณสมบัติ จะต้องศึกษาและสอบผ่านรายวิชาครบถ้วนตามหลักสูตรกำหนดไว้และได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00
2.3 ให้มหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวัดคุณสมบัติ ไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกิน 5 คน โดยการเสนอของผู้อำนวยการหลักสูตร และคณะกรรมการหลักสูตร
2.4 การสอบวัดคุณสมบัติ ข้อเขียน และ/หรือการสอบวัดคุณสมบัติ ปากเปล่าให้สอบได้ไม่เกิน 3 ครั้ง แต่ถ้ายังสอบไม่ผ่านให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการหลักสูตรของแต่ละหลักสูตรหรือคณะกรรมการบัณฑิตศึกษา

  1. ขั้นตอนการเสนอหัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์

3.1 นิสิตลงทะเบียนวิทยานิพนธ์ เพื่อเสนอหัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์ตามกระบวนการที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยหัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์จะต้องเกี่ยวกับสาขาวิชาที่ศึกษาและได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร และคณะกรรมการหลักสูตร
3.2 นิสิตเข้าชี้แจงและตอบข้อซักถามที่เกี่ยวกับหัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาหัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์ตามวันและเวลาที่หลักสูตรกำหนด การเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกี่ยวกับหัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาหัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์แล้วต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหลักสูตร
3.3 มหาวิทยาลัย และ/หรือ หลักสูตรจะประกาศอนุมัติหัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์ เพื่อให้นิสิตมีสิทธิดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ในหัวข้อที่ได้รับความเห็นชอบต่อไป

  1. การเรียบเรียงวิทยานิพนธ์

4.1 นิสิตจะต้องเรียบเรียงเนื้อหา การศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ในหัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์ที่ได้รับความเห็นชอบภายใต้คำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม (ถ้ามี)
4.2 นิสิตต้องรายงานความก้าวหน้าในการทำวิทยานิพนธ์ให้อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม (ถ้ามี) ตามเวลาที่อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์กำหนด
4.3 รูปแบบการเรียบเรียงวิทยานิพนธ์ต่าง ๆ รวมทั้งการอ้างอิง การนำเสนอ และอื่น ๆ ให้เป็นไปตามคู่มือการเขียนวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัย
4.4 การเรียบเรียงอาจทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นก็ได้ แต่ต้องมีบทคัดย่อทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ในกรณีทำเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นจะต้องได้รับการตรวจแก้ภาษาจากผู้ทรงคุณวุฒิในภาษานั้น

  1. การสอบวิทยานิพนธ์

5.1 นิสิตจะต้องได้รับอนุมัติจากอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม (ถ้ามี) ให้สอบวิทยานิพนธ์ได้ จึงมีสิทธิยื่นขอสอบวิทยานิพนธ์

5.2 นิสิตจะยื่นขอสอบวิทยานิพนธ์ต่อเมื่อได้ลงทะเบียนวิทยานิพนธ์ครบถ้วนตามข้อกำหนดของหลักสูตร

5.3 นิสิตจะต้องพิมพ์วิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์เพื่อยื่นขอสอบให้แก่กรรมการสอบวิทยานิพนธ์ก่อนกำหนดวันสอบไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์ และสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้ง

5.4  ให้มหาวิทยาลัยแต่งตั้งประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์และกรรมการสอบร่วม ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 9.3.4 โดยการเสนอของผู้อำนวยการหลักสูตรและคณะกรรมการหลักสูตรของแต่ละหลักสูตร

5.5 ให้ประธานกรรมการตามข้อ 33 (4) รายงานผล และ/หรือ เงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดให้นิสิตปรับแก้หลังการสอบ ตลอดจนประมวลผลสมบูรณ์สุดท้ายให้มหาวิทยาลัยทราบ

5.6 หากคณะกรรมการตามข้อ 33 (4) มีมติให้แก้ไขปรับปรุง นิสิตจะต้องแก้ไขปรับปรุงวิทยานิพนธ์ตามมติของคณะกรรมการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน มิฉะนั้นจะถือว่าสอบไม่ผ่าน

5.7 ในกรณีที่มีข้อขัดแย้งทางวิชาการหรือข้อขัดแย้งอื่น ๆ ให้คณะกรรมการบัณฑิตศึกษาเป็นผู้พิจารณาตามข้อเสนอของประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ และคำวินิจฉัยนั้นถือเป็นที่สุด

5.8 นิสิตระดับปริญญาโทที่สอบวิทยานิพนธ์ 2 ครั้งแล้วไม่ผ่าน หากประสงค์จะเปลี่ยนแปลงแผนการศึกษาเป็นแผน ข ต้องยื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัยผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาและคณะกรรมการหลักสูตรของแต่ละหลักสูตร เมื่อได้รับอนุมัติแล้วต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของหลักสูตรนั้น

5.9 นิสิตระดับปริญญาโทที่สอบวิทยานิพนธ์ 2 ครั้งแล้วไม่ผ่าน ให้คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์เป็นผู้วินิจฉัยว่าสมควรสอบครั้งที่ 3 หรือไม่ และเสนอให้ผู้อำนวยการหลักสูตรและคณะกรรมการหลักสูตรของแต่ละหลักสูตรเป็นผู้อนุมัติ

5.10 นิสิตจะต้องส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ที่ผ่านการตรวจและรับรองจากคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์และผู้อำนวยการหลักสูตร จำนวน 3 เล่ม บทคัดย่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษจำนวน 10 ชุด และบันทึกในรูปแบบซีดีรอมจำนวน 2 แผ่น รวมทั้งบทความ 1 ชุด

5.11 ในกรณีที่นิสิตที่ยังไม่ส่งวิทยานิพนธ์หรือรายงานการค้นคว้าอิสระฉบับสมบูรณ์ ให้ถือว่านิสิตผู้นั้นยังไม่สำเร็จการศึกษา นิสิตจะต้องลงทะเบียนรักษาสถานภาพทุกภาคการศึกษาจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา

5.12 ผลงานวิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติหรือระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษาเรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ หรือนำเสนอต่อที่ประชุมวิชาการโดยบทความที่นำเสนอฉบับสมบูรณ์ (Full Paper)ได้รับการตีพิมพ์ในรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการ (Proceedings) ดังกล่าว

เกณฑ์การสำเร็จการศึกษา และการอนุมัติปริญญา

  1. เกณฑ์การสำเร็จการศึกษา นิสิตจะต้องปฏิบัติดังนี้

(1) ประกาศนียบัตรบัณฑิตและประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ต้องเรียนครบตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในหลักสูตรและต้องได้รับคะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 จากระบบ 4 ระดับคะแนนหรือเทียบเท่า

 

(2) ปริญญาโท

แผน ก แบบ ก 1 เสนอวิทยานิพนธ์และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้ง และต้องเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้สำหรับผลงานวิทยานิพนธ์ หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์ หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ หรือระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษาเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ

แผน ก แบบ ก 2 ศึกษารายวิชาครบถ้วนตามที่กำหนดในหลักสูตร โดยจะต้องได้รับคะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 จากระบบ 4 ระดับคะแนนหรือเทียบเท่าพร้อมทั้งเสนอวิทยานิพนธ์และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้ง และต้องเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้

ผลงานวิทยานิพนธ์ หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติหรือระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ หรือนำเสนอต่อที่ประชุมวิชาการโดยบทความที่นำเสนอฉบับสมบูรณ์ (Full Paper) ได้รับการตีพิมพ์ในรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการ (Proceedings) ดังกล่าว

แผน ข ศึกษารายวิชาครบถ้วนตามที่กำหนดในหลักสูตร โดยจะต้องได้รับคะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 จากระบบ 4 ระดับคะแนนหรือเทียบเท่า และสอบผ่านการสอบประมวลความรู้ (Comprehensive Examination) ด้วยข้อเขียนและ / หรือปากเปล่าในสาขาวิชานั้น พร้อมทั้งเสนอรายงานการค้นคว้าอิสระ และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้ง โดยเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้และรายงานการค้นคว้าอิสระหรือส่วนหนึ่งของรายงานการค้นคว้าอิสระต้องได้รับการเผยแพร่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่สืบค้นได้

 

(3) ปริญญาเอก

แบบ 1 สอบผ่านการสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination) เพื่อเป็นผู้มีสิทธิขอทำวิทยานิพนธ์ เสนอวิทยานิพนธ์ และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้ง ซึ่งจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายในและภายนอกสถาบันและต้องเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้

สำหรับผลงานวิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติหรือนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการอย่างน้อย 2 เรื่อง

แบบ 1 ศึกษารายวิชาครบถ้วนตามที่กำหนดในหลักสูตร โดยจะต้องได้ระดับคะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 จากระบบ 4 ระดับคะแนน/เทียบเท่า สอบผ่านการสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination) เพื่อเป็นผู้มีสิทธิขอทำวิทยานิพนธ์ เสนอวิทยานิพนธ์และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้ง ซึ่งจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายในและภายนอกสถาบันและต้องเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้หรับผลงานวิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติหรือนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ

ระบบการจัดการศึกษาแบบออนไลน์

ปีการศึกษา 2566 มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์มีการจัดการศึกษาแบบออนไลน์ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ในสาขาวิชาการจัดการธุรกิจยุคดิจิทัลและสาขาวิชาอื่น ๆ ในบางรายวิชา ด้วยระบบ RPU Online System for Education (ROSE) โดยมีระบบการเรียนการสอนออนไลน์ดังนี้

- การเรียนการสอน ผู้เรียนสามารถกำหนดเวลาการเข้าเรียนของแต่ละรายวิชา โดยเรียนผ่านบทเรียนออนไลน์ในรูปแบบการสอนสด และจากคลิปบันทึกการสอนของอาจารย์ผู้สอน โดยสามารถสืบค้นความรู้จากห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์หรือแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ
- สามารถทำแบบฝึกหัดและสอบผ่านระบบออนไลน์ โดยมีอาจารย์ผู้สอนให้ข้อมูลป้อนกลับเพื่อพัฒนานิสิตอย่างสม่ำเสมอ
- สามารถเข้าเรียนได้จากทุกที่ ทุกเวลา ผ่านเครื่องมือติดต่อสื่อสารคอมพิวเตอร์แบบพกพา (Notebook) หรือโทรศัพท์มือถือ (Smart Phone) แท็บเล็ต (Tablet) ซึ่งนิสิตสามารถดำเนินกิจกรรมใน   การเรียนการสอน การติดต่อและรับข้อมูลข่าวสารการเรียนการสอนจากผู้สอนและกลุ่มนิสิตด้วยกันได้

ช่องทางที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถาม-ตอบระหว่างผู้สอนกับนิสิต และระหว่างนิสิตกับนิสิต ผ่านช่องทาง เช่น Microsoft Teams, Google Meet, Google Classroom, Zoom, Line, Facebook, Chat Room, Web board,  e-Mail

งานทุนการศึกษา สังกัดสำนักประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย

งานทุนการศึกษา

มีหน้าที่บริการข้อมูลข่าวสารการขอรับสมัครทุนการศึกษาประเภทต่าง ๆ เพื่อช่วยนิสิตให้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนให้นิสิตเห็นความสำคัญของการศึกษาเพื่อเพิ่มคุณวุฒิการศึกษา ประกอบอาชีพในอนาคตต่อไป โดยมีทุนประเภทต่าง ๆ ดังนี้

          1) ทุนเรียนดี นิสิตที่เข้ามาศึกษาในชั้นปีที่ 1 เมื่อมีการวัดผลประเมินผลการศึกษาแล้วมีค่าเฉลี่ยของคะแนนสะสมระดับ 4.00 จะมีสิทธิ์ขอทุนการศึกษาประเภททุนยกเว้นค่าหน่วยกิต ในภาคการศึกษาต่อไป
          2) ทุนทักษะความสามารถ ด้านดนตรี และกีฬาประเภทต่าง ๆ ทางมหาวิทยาลัยจะคัดเลือก เพื่อ รับทุนการศึกษาก่อนเปิดการศึกษาเป็นประจำทุกปีการศึกษา เพื่อรับสิทธิ์ยกเว้นค่าหน่วยกิต จนสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร
3) ทุนนิสิตพิการ เป็นทุนอุดหนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มอบให้แก่นิสิตที่มีความพิการ แต่ละประเภทและมีบัตรสำหรับผู้พิการ เข้ามาศึกษาในระดับปริญญาตรี โดยได้รับค่าเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษา งานทุนการศึกษาเป็นหน่วยงานประสานและตรวจสอบคุณสมบัติของนิสิต เพื่อส่งหลักฐานในการขอรับทุนให้แก่นิสิตต่อไป
4) ทุนช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ตามความเหมาะสมแต่ละกรณี นิสิตสามารถปรึกษาคณาจารย์ที่ปรึกษาในคณะ/สาขาวิชา หากเกิดปัญหาความเดือดร้อนในด้านต่าง ๆ เพื่อนำเสนอการพิจารณาช่วยเหลือจากผู้บริหารของมหาวิทยาลัยต่อไป
5) ทุนจากมูลนิธิ สถานประกอบการ หน่วยงานภายนอก งานทุนการศึกษามีหน้าที่ประสานกับหน่วยงาน ส่งเอกสารการสมัครทุน โดยมีการประชาสัมพันธ์การให้ทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทางป้ายประกาศ ข้างห้องสำนักงาน และผ่านช่องทาง Line Official ของสำนักประชาสัมพันธ์

 

งานกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

มีหน้าที่ให้บริการความช่วยเหลือแก่นิสิตที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้รับโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โดยเข้าร่วมโครงการกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และ (กรอ.) ของรัฐบาล ด้วยการเผยแพร่ความรู้ อำนวยความสะดวกในการให้คำแนะนำแก่นิสิตในมหาวิทยาลัยให้เข้าใจและรับรู้การปฏิบัติตนในการสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อขอกู้ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ค่าใช้จ่ายในการครองชีพ โดยใช้สถานที่อาคารประชาสัมพันธ์ ตั้งอยู่ตรงข้ามบริเวณหน้าเสาธงให้บริการนิสิต หรือสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-432-6101-5 ต่อ 2102